ประวัติศาลเจ้าพ่อหมื่น จังหวัดนครพนม : ศาลเจ้าพ่อหมื่น ศักดิ์สิทธิคู่เมืองนครพนม

0
6,920 views

เจ้าพ่อหมื่น

             “ศาลเจ้าพ่อหมื่น” อยู่ติดกำแพงทิศเหนือวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ถนนสุนทรวิจิตร เป็นศาลคู่อยู่ติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่ชาวจีนเคารพนับถือเป็น 1 ใน 7 ศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองนครพนม ต่างเชื่อว่ามีฤทธิ์เดชอัศจรรย์ เดิมทีศาลเจ้าพ่อแห่งนี้ เป็นหอไม้เก่าๆพุพังติดริมฝั่งแม่น้ำโขง อยู่ใต้ต้นมะม่วงไข่ที่ปลูกอยู่หลายต้น กระทั่งน้ำโขงไหลกัดเซาะตลิ่งจนพังทลาย ต่อมาจึงได้ย้ายศาลมาตั้งภายในวัดโอกาส ส่วนศาลหรือหอเจ้าพ่อหมื่นหลังเดิม ทางราชการได้ก่อสร้างอาคารด่านศุลกากร
           หลังย้ายหอไม้สูง 1 เมตรเศษ กว้าง 50 ซ.ม.ยาวประมาณ 60 ซ.ม.มาอยู่ติดกำแพงวัดใต้ต้นมะม่วงไข่สูงใหญ่ ปี พ.ศ.2532 ได้เกิดไฟไหม้เผาผลาญร้านค้าและบ้านเรือนวอดวายครั้งใหญ่ ปรากฏอัศจรรย์ต้นมะม่วงและหอเจ้าพ่อหมื่น ไม่ถูกเพลิงไหม้ระคายแต่อย่างใด
           พ.ศ.2536 พระครูวิชิตพัฒนคุณ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโอกาส เล็งเห็นว่าหอเจ้าพ่อชำรุดทรุดโทรม จึงนำเงินที่ได้มาจากการบริจาคของประชาชน จำนวน 3 แสนบาท ก่อสร้างและเปลี่ยนชื่อจากหอมาเป็น “ศาลเจ้าพ่อหมื่น” จนถึงปัจจุบัน
           ศาลเจ้าพ่อหมื่น เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยอีสาน ความยาว 6 เมตร กว้าง 3 เมตร สูง 7 เมตร ปูด้วยพื้นหินอ่อน ราวบันได 2 ข้างมีพญานาค 2 ตัว มีลูกกรงเหล็กสแตนเลสกั้นไว้ ภายในมีรูปปั้นไม้พะยูงแกะสลักสูง 40 ซ.ม.ตั้งอยู่บนแท่นฐานคอนกรีตสีแดง รูปปั้นไม้ดังกล่าว เชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อหมื่นสิงสถิตเป็นผีมเหศักดิ์ ทาปากแดงโพกหัวสีแดง สวมใส่ชุดโบราณ มือซ้ายถือดาบ ข้างกายมีพญานาคไม้แกะสลัก 2 ตัว ด้านล่างมีเครื่องเซ่นไหว้ อาทิ ถ้วยรางวัลการแข่งขันเรือยาว ขันหมากเบ็ง หมากพลูบุรี่ มะพร้าวอ่อน เป็นต้น
          ตามตำนานเล่าว่า จมื่นรักษาราษฏร์ สมัยก่อนเป็นนายกองเมือง ต่างพระเนตรพระกรรณแทนเจ้าพระยาศรีโคตรบูรหลวง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่รักใครของประชาชนและลูกหลาน เข้าวัดปฏิบัติธรรมมิได้ขาด ทั้งยังเป็นแพทย์รักษาโรคแผนโบราณโดยไม่คิดมูลค่า จมื่นผู้นี้ยังมีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันชาตรี ใส่หุ่นหนัง บังฟัน งัวธนู บังตัวหายตัว และเป็นต้นศรัทธาให้ชาวบ้าน บ.โพธิ์ค้ำในอดีต สร้างวัด “ศรีบัวบาน” หรือวัดโอกาสในปัจจุบัน
ครั้นจมื่นอายุย่างเข้าวัยชรา มีอายุได้ 90 ปีเศษ วันหนึ่งท่านอยากกินหมกกุ้งหมกซิว (ห่อหมก) จึงให้ลูกหลานไปช้อนกุ้งช้อนซิว(จับโดยใช้สวิง)ในแม่น้ำโขง ได้แต่ไข่ลูกโตๆเท่าไข่ห่าน แม้จะเอาโยนทิ้งน้ำ ยังมาถูกสวิงเช่นเดิม จมื่นจึงบอกลูกหลานให้นำไข่ดังกล่าวมาหมกให้กิน เมื่อกินไข่แล้วเกิดร้อนรนกระวนกระวาย กระหายน้ำ จึงรีบนำจมื่นไปอาบน้ำโขง ดำผุดดำว่ายนาน ลูกหลานบอกให้ขึ้น แต่จมื่นกับร้องขอผ้าแดง 1 ผืนมาโพกศีรษะ แล้วดำหายไปในน้ำโขง จึงงมหาแต่ไม่พบ ขณะนั้นปรากฏมีเงือกงูใหญ่ตัวหนึ่งผุดขึ้นดำลงลอยในแม่น้ำโขง จึงให้คนขี่ม้าเร็วไปกราบทูลพระเจ้าศรีโคตรบูรหลวงทรงทราบ
          พระองค์รีบเสด็จลงเรือตรัสกับเงือกงูใหญ่ตัวนั้นว่า “จมื่นฯเอ๋ยแกเป็นคนดี เมื่อแกมรณกรรมแล้วยังห่วงประชาชนอยู่ ขอให้แกรักษาทางน้ำทางบกตลอดใต้สุดและเหนือสุด ตั้งแต่ผาใด ผาด่าง ถ้ำใต้ถึงแก่งหลี่ผีสีพันดอนเป็นเขตบก ทิศตะวันออกจรดภูเขาไม้ล้มแบ่ง ทิศตะวันตกถึงภูเขาดงพญาไฟ ให้แกไปอยู่ที่หางดอนโดน จะปลูกศาลให้เดือน 6 ปีใหม่ ทุกปีจะเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ”
           จากนั้นพระองค์จึงนำข้าวสุก 1 ปั้น ไข่ต้ม 1 ฟองที่เตรียมมาให้เงือกงูตัวนั้นกิน ก่อนเงือกงูตัวใหญ่ดำจมหายไป กลายเป็นผีมเหศักดิ์หลักเมืองของนครศรีโคตรบูร นับแต่นั้นมา
            ย้อนไปใน พ.ศ.2501 พ่อค้านครพนมได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าพ่อหมื่น เป็นศาลจีนเพื่อเป็นมงคลแก่ชาวนครพนม ให้เจ้าพ่อหมื่นสถิตเป็นหลักเมืองนครพนม แต่ทว่าเจ้าหมื่นอยากอยู่เป็นเอกเทศ ไม่อยากอยู่ศาลจีน พระครูวิชิตพัฒนคุณจึงสร้างศาลใหม่ครอบศาลเก่าดังกล่าว ทั้งสองศาลเจ้าที่อยู่คู่กัน จึงเรียกร่วมกันว่า “ศาลเจ้าพ่อหมื่น”
วันแรม 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวบ้านคุ้มวัดโอกาสจะจัดงานเซ่นไหว้ดวงวิญญาณเจ้าพ่อหมื่นสืบเนื่องมาแต่โบราณ โดยจะมีร่างทรงฟ้อนรำดาบ รำง้าว พร้อมนำเครื่องเซ่นไหว้ มีเหล้าขาว 1 ขวด มะพร้าวอ่อน 1 ลูก ผ้าแดง 1 ผืน หมากพลูบุรี่ และตุ๊กตาช้างม้าโบราณ ชาวนครพนมเชื่อว่าศาลเจ้าพ่อหมื่นศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้ผู้ทำผิดเกิดอาเพศต่างๆ และจะอำนวยโชคให้ผู้เคารพนับถือเป็นนิจกาล
            เมื่อถึง 3 ค่ำเดือน 11 งานออกพรรษาแข่งเรือยาว จะมีฝีพายเรือนับสิบลำมาบนบานเพื่อขอให้เรือแข่งชนะเลิศ และได้รับกรรมสิทธิ์ครองถ้วยพระราชทาน และในเดือนดังกล่าวสมาคมชาวจีน จะจัดงานงิ้วเฉลิมฉลอง 6 วัน 6 คืนเป็นประเพณี
         ด้านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่เดินทางมารับราชการที่ จ.นครพนม จะมาคารวะที่ศาลเจ้านี้เป็นแห่งแรก ส่วนผู้ที่มาบนบานทั่วๆไปจะบนบานแล้วเชื่อว่า จะประสบผลสำเร็จในธุรกิจค้าขายรุ่งเรือง และหน้าที่การงานมั่นคง

เรียบเรียงโดย…ชนะ วสุรักคะ(น๊อตข่าวสด)

ที่มา จาก facebook คุณ : Chana Wasurakka

แสดงความเห็น

comments