นครพนม – ผอ.โรงเรียนใน อ.ศรีสงครามไอเดียเจ๋ง จัดงานบุญประทายข้าวเปลือกหาทุนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เข้าห้องสมุด ชาวบ้านร่วมบริจาคสมทบเนืองแน่น ได้ข้าวกว่า 2 ตัน ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็ง ความรัก สามัคคีในชุมชน พร้อมยังได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีโบราณอีสานให้ยั่งยืน
วันนี้ (21 ธ.ค.) ณ หอประชุมอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านนาชุมใหม่เนรมิต บ้านนาชุม ต.นาเดื่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นายวิญญู คำหา ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ นายลิขิต แก้วปีลา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา พร้อมกับชาวบ้านในหมู่บ้านและใกล้เคียง ได้ร่วมกันจัดงานบุญประทายข้าวเปลือก เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของคนอีสาน พร้อมร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อสมทบทุนจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ ให้แก่ห้องสมุดของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาเสริมความรู้นอกเวลาเรียนในเรื่องต่างๆ
ในการนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้าน ผู้ปกครอง นำข้าวเปลือกซึ่งผ่านการเก็บเกี่ยวใหม่ๆ มาบริจาคทำบุญสมทบกันเป็นจำนวนมาก ยอดทำบุญข้าวเปลือกทั้งหมดได้ทั้งสิ้นกว่า 2,500 กิโลกรัม เงินสดบริจาคอีก 34,809 บาท ส่วนข้าวเปลือกที่นำมาร่วมทำบุญครั้งนี้ทางคณะกรรมการโรงเรียนจะได้นำไปขายเอาเงินมาจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ และสิ่งของจำเป็นจัดสรรให้ห้องสมุดมีความพร้อมสมบูรณ์ สามารถให้นักเรียนได้เข้ามาหาความรู้ในช่วงเวลาว่างได้อย่างเต็มที่
ทางด้านนายวิญญู คำหา ผอ.ฯ กล่าวว่า วันนี้มีชาวบ้านในชุมชนมาถวายข้าวเปลือก ทำบุญตักบาตร และสมทบทุนเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าห้องสมุด เป็นช่องทางหนึ่งให้นักเรียนใช้ในการเสริมสร้างความรู้นอกตำราเรียน และยังเป็นการแสดงพลังรวมน้ำใจ สร้างความสามัคคีให้กับบ้าน วัด และโรงเรียนในชุมชน ส่วนเรื่องหนังสือต่างๆ ทางโรงเรียนยังขาดแคลนอยู่มาก
หากท่านใดประสงค์จะบริจาคหนังสือเกี่ยวกับความรู้ต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ ผอ.ฯ โดยตรง หมายเลข 08-5645-7913 ถือเป็นบุญกุศลอย่างอเนกอนันต์
สำหรับงานบุญประทายข้าวเปลือก ถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อกันมาช้านานของชาวภาคอีสาน คำว่า “ฮีต” คือจารีตประเพณี เป็นปกติของคนอีสานจะต้องทำบุญใส่บาตรทุกวัน ในวันพระจะต้องมารับศีลรับพรจากพระคุณเจ้าวัดใกล้บ้าน หรือรักษาศีลอุโบสถชำระล้างจิตใจของตน ช่วงนี้ถือเป็นฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จพอดี ชาวบ้านที่ได้รับผลจากการเพาะปลูกก็พากันทำบุญทำทานตามจารีตประเพณี
ทั้งนี้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ปู่ย่าตายายได้สั่งสอนเอาไว้ หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาต่างพากันนำผลประโยชน์ที่ตนได้รับ คือ ข้าวเปลือกนั้นมาทำบุญถวายแด่วัด เพื่อจะได้เป็นทรัพย์ภายในติดตามจิตใจของตนไปจนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน นักปราชญ์โบราญท่านจึงแต่ง ฮีตสิบสองเอาไว้ ให้กุลบุตรลูกหลานไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท ให้หมั่นทำบุญใหญ่ทุกเดือน จัดกิจกรรมอันจะนำประโยชน์มาให้ทั้งปัจจุบัน และอนาคตร่วมกัน
ที่มา : http://www.manager.co.th