ประวัติและปฏิปทา
พระเทพสิทธาจารย์
(หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)
วัดศรีเทพประดิษฐาราม
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม
๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2524 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 (เดือนอ้าย) ปีมะเส็ง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน ของนายวงศ์เสนา และนางไข สุวรรณมาโจ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ ชาติภูมิอยู่ที่บ้านท่าอุเทน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ในวัยเยาว์ เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ มีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงเพราะป่วยเป็นโรคหืด ครั้นเจริญวัยใหญ่โตขึ้นมาโรคนี้ก็หายขาดไป จนกระทั่งเมื่อท่านมีอายุได้ 60 ปี โรคหืดนี้ก็กลับกำเริบขึ้นมาอีก
ครั้นถึงปีพุทธศักราช 2431 เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ ได้เรียนหนังสืออักษรไทยน้อย หัดเขียนหัดอ่านจากหนังสือผูกโบราณ วรรณคดีพื้นบ้านซึ่งประชาชนในสมัยนั้นนิยมอ่านกันมาก
๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ในปีพุทธศักราช 2434 ขณะที่เด็กชายจันทร์ สุวรรณมาโจ อายุได้ 10 ขวบ นายวงศ์เสนา สุวรรณมาโจ ผู้เป็นโยมบิดาได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรมลง ในงานฌาปนกิจศพของโยมบิดา เด็กชายจันทร์ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร (บวชหน้าไฟ) เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่โยมบิดา โดยมี พระอาจารย์ขันธ์ ขนฺติโก วัดโพนแก้ว ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากเสร็จงานศพของโยมบิดาแล้ว สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็มิได้ลาสิกขา มุ่งหน้าบวชต่อไปเพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนตามประเพณี การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้น หนังสือที่ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนจะเป็นคัมภีร์โบราณเขียนจารเป็นอักษรขอม อักษรธรรม ยากแก่การศึกษาเล่าเรียน ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จ
สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ได้ศึกษาอักษรสมัยกับ พระอาจารย์เคน อุตฺตโม เมื่อแตกฉานเชี่ยวชาญดีแล้ว จึงเรียนบาลีเดิมที่เรียกว่ามูลกัจจายน์ และคัมภีร์สัททาสังคหปฏิโมกข์ ปรากฏว่าสามเณรจันทร์อ่านเขียนและท่องจำได้คล่องแคล่ว จนมีผู้มาขอร้องให้ท่านช่วยจารหนังสืออักษรขอม อักษรธรรมอยู่เสมอ นอกจากสนใจในด้านพระปริยัติธรรมแล้ว สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็ยังสนใจในการปฏิบัติกรรมฐานอีกด้วย จึงได้ไปศึกษากรรมฐานในสำนักของ พระอาจารย์ศรีทัศน์ ญาณสัมปันโน ที่วัดโพนแก้ว จังหวัดนครพนม เป็นเวลาหลายปี
พระอาจารย์ศรีทัศน์นับว่าเป็นพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง เคยเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญกรรมฐาน แสวงหาวิเวกในสถานที่ต่างๆ จนถึงเขตประเทศพม่า และได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศพม่า ครั้นเดินทางกลับถึงอำเภอท่าอุเทนแล้ว ได้ชักชวนประชาชนก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากประเทศพม่า ใช้เวลาสร้าง 7 ปี จึงแล้วเสร็จ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระธาตุท่าอุเทนจึงเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงทุกวันนี้
สามเณรจันทร์ สุวรรณมาโจ ศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัย และปฏิบัติกรรมฐานอยู่มาจนถึงอายุ 19 ปี ในขณะเดียวกันท่านก็รู้สึกเป็นห่วงโยมมารดาและครอบครัว อยากจะช่วยเหลือครอบครัวให้รอดพ้นจากความอยากยากจน คราวใดได้ลาภสักการะมา ก็มักจะส่งไปให้โยมมารดา ในกาลต่อมา เพื่อนสามเณรรุ่นเดียวกันมาชักชวนให้ลาสิกขาไปทำการค้า สามเณรจันทร์เห็นว่าเป็นหนทางที่จะร่ำรวยช่วยเหลือทางบ้านได้ จึงตัดสินใจไปขอลาสิกขากับพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านก็อนุญาตให้สึกได้ตามประสงค์
หลังจากลาสิกขาแล้ว นายจันทร์ สุวรรณมาโจ ก็เข้าหุ้นกับเพื่อนร่วมกันทำมาค้าขาย ตอนแรกรู้สึกว่าร่ำรวยทำมาค้าขึ้น ในระหว่างนั้นก็มีเจ้านายที่เคารพนับถือมาขอร้องให้ไปช่วยจารหนังสือขอม-หนังสือธรรมให้อยู่เสมอ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลกิจการค้าขายอย่างเต็มที่ ส่วนเวลากลางคืนยังมีเจ้านายมากะเกณฑ์ให้ไปอยู่เวรยามมิได้ขาด ชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือน การค้าขายที่คาดกันไว้ว่าจะร่ำรวยกลับมีแต่ทรุด เป็นเหตุให้นายจันทร์เกิดความเบื่อหน่าย ต้องล้มเลิกกิจการค้าขายไป ท่านรู้สึกไม่สบายใจในชีวิตฆราวาส ซึ่งมีแต่ความสับสนวุ่นวาย แก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกัน หาความเที่ยงธรรมและความสงบสุขได้ยาก
นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ที่อยู่เป็นฆราวาส หนุ่มจันทร์ยังมีสตรีเพศเข้ามาติดต่อพัวพันยั่วยวนด้วยวิธีการต่างๆ นานา ยิ่งทำให้หนุ่มจันทร์รู้สึกอึดอัดใจ ในที่สุดหนุ่มจันทร์ก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะกลับมาบวชอีก ประกอบกับตอนนั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงมุ่งหน้าเข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีพุทธศักราช 2445 โดยมี พระอาจารย์เหล่า ปญฺญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เคน อุตฺตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์หนู วิริโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมิโย” อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโพนแก้ว จังหวัดนครพนม และได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว พระภิกษุจันทร์ เขมิโย ก็ถูกพวกสตรีเพศที่เคยมาติดพันท่านสมัยเป็นฆราวาส มารบกวนไปมาหาสู่อยู่เนืองๆ ท่านเห็นว่า ถ้าขืนอยู่ที่วัดโพนแก้วต่อไป สตรีเพศคงจะมารบกวนยั่วยวนเช่นนี้เรื่อยไป จะทำให้เกิดความเศร้าหมองแก่เพศพรหมจรรย์เข้าสักวัน จึงตัดสินใจกราบลาพระอุปัชฌาย์ ย้ายไปอยู่วัดพระอินทร์แปลง และในขณะเดียวกันพระอาจารย์เคน อฺตฺตโม ผู้ที่เคยอบรมสั่งสอนท่าน ต้องย้ายไปอยู่วัดพระอินทร์แปลง เพื่อเป็นเจ้าอาวาส ดังนั้นพระภิกษุจันทร์ เขมิโย จึงย้ายติดตามพระอาจารย์เคนไปด้วย
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิราญาณวโรรส
ในปี พ.ศ.2445 นั่นเอง พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมด้วย พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นพระครูอยู่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางผ่านมาถึงจังหวัดนครพนม มาปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ตอนใต้เมืองนครพนม ประชาชนจำนวนมากพากันไปกราบไหว้ฟังธรรม และขอรับแนวทางการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิมิได้ขาด พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ข้าหลวงเมืองนครพนม ทราบข่าว จึงไปกราบนมัสการและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ทั้งสอง
การกราบพบปะสนทนากันในครั้งนั้น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ได้ชี้แจงความเป็นมาของตน ว่าเคยเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิราญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้เล่าถึงพฤติกรรมของพระภิกษุสามเณร ในจังหวัดนครพนมให้ท่านทราบ และขอให้ช่วยหาทางแก้ไขด้วย พระอาจารย์เสาร์จึงแนะนำให้เสาะหาคัดเลือกพระภิกษุสามเณร ผู้เฉลียวฉลาดมีความประพฤติดี และสมัครใจที่จะทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระภิกษุสามเณรในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพื่อไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักของพระอาจารย์ทั้งสอง ให้มีความหนักแน่นมั่นคงในพระธรรมวินัยแล้ว จึงส่งกลับมาอยู่นครพนมตามเดิม จะได้ช่วยกันแก้ไขความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในจังหวัดนครพนมให้ดีขึ้น
พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงเมืองนครพนม ได้เสาะแสวงหาพระภิกษุสามเณรที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทาบทามพระภิกษุได้ 5 รูป และสามเณรอีก 1 รูป 4 รูปนั้น มีพระภิกษุจันทร์ เขมิโย รวมอยู่ด้วย พระยาสุนทรฯ ได้นำพระภิกษุสามเณรทั้ง 5 รูป มาถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)
พระภิกษุจันทร์ เขมิโย นั้นมีความรู้พื้นฐานทางสมถกรรมฐานอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้ามาเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ จึงรู้สึกถูกอัธยาศัยเป็นอย่างยิ่ง ข้อวัตรปฏิบัติใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ตั้งใจศึกษาและเรียนถามจากครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งใส่ใจฝึกปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติกรรมฐานอย่างรวดเร็ว
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)