ราชอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์

0
4,810 views
อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
พระธาตุพนม ถิ่นฐาน
ราชอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ก่อตั้งขึ้นตรงดินแดน ๒ ฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณจักรสยาม โดยเริ่มตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเพชรบูรณ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
– ภาคตะวันตกกับภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเริ่มตั้งแต่นครจำปาศักศิ์ ไปจรดกรุงเวียงจันทน์
การปกครอง
ระบบราชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมืองหลวง
สันนิษฐานว่า เดิมทีเมืองหลวง คือ เมืองนครพนม ( จังหวัดนครพนม ) แต่ภายหลังได้สร้างเมืองหลวงใหม่ มีนามว่า “มรุกขนคร” ตั้งอยู่บริเวณเมืองท่าแขก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วัฒนธรรม
สันนิษฐานว่า ประชาชนของราชอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมาก โดยเห็นได้จากการก่อสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ อาทิเช่น วัดพระธาตุวรมหาวิหาร พร้อมทั้งมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับศาสนา การเกษตร
วิถีชีวิต
ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร แต่มีการค้าขายบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยอาศัยการคมนาคมทางน้ำ แต่ที่ราบที่ดอน ใช้เกวียน
แผนที่อาณาจักรโคตรบูร
ประวัติความเป็นมาอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
สมัยก่อนอยุธยา
          วัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-16) พัฒนาการของชุมชนโบราณระยะต้นสมัยประวัติศาสตร์ ในเขตจังหวัดนครพนม เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 บริเวณปากทางคมนาคม ที่ลำน้ำใหญ่ ๆ 3 สาย ไหลมาบรรจบกันคือแม่น้ำโขงไหลมาตามแนวทิศเหนือใต้ผ่านทางด้าน ทิศตะวันออกของจังหวัด ลำน้ำก่ำไหลมาจากหนองหาร จังหวัดสกลนคร และเซบั้งไฟ ซึ่งมีจุดกำเนิดในเทือกเขาต่อแดนระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศเวียดนามออกสู่แม่น้ำโขง เป็นทำเลที่ตั้งอันสะดวกสามารถควบคุมเส้นทางการติดต่อค้าขาย ชุมชนหรือเมืองในสมัยประวัติศาสตร์รุ่นแรกที่พบหลักฐานชัดเจนร่วมสมัยกับชุมชนในภาคกลาง ที่เรียกว่า “ทวารวดี” นั้นคือ เมืองศรีโคตรบูร ซึ่งนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ที่เมืองขามแท้ ริมฝั่งด้านทิศใต้ของเซบั้งไฟ ในเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นชุมชนสำคัญแห่งใหม่ ที่ก้าวกระโดดขึ้นมาในสมัยประวัติศาสตร์โดยมีพัฒนาการสืบต่อมาจากชุมชนเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และองค์พระธาตุพนมก็เป็นเสมือนตัวแทนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลากกลุ่มหลายวัฒนธรรมซึ่งได้พัฒนาขึ้นจากการติดต่อกับกลุ่มชนที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดินทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
องค์พระธาตุพนม เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนหรือเมืองที่มีชื่อปรากฏในตำนานอุรังคธาตุว่าศรีโคตรบูร เรื่องราวขององค์พระธาตุพนมและเมืองศรีโคตรบูร ได้สะท้อนถึงภาพของชุมชนและบ้านเมืองในแถบนี้ว่า ต่างมีเจ้าเมืองปกครองเป็นอิสระ ลักษณะเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยกระจายอยู่ทั่วไป กลุ่มที่อยู่ในท้องถิ่นใกล้ องค์พระธาตุพนมได้แก่ เมืองศรีโคตรบูร เมืองหนองหารหลวง เมืองหนองหารน้อย เมืองสาเกตุหรือร้อยเอ็ดประตู เมืองพาน กลุ่มที่ห่างไกลองค์พระธาตุพนม ได้แก่ เมืองอินทปัฐนคร (กัมพูชา) และเมืองจุลณี (เวียดนาม) เมื่อระบบความเชื่อทางศาสนาได้แพร่เข้ามาจึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้นระหว่างกลุ่มชน โดยสอดแทรกผสมกับรูปแบบศิลปกรรมท้องถิ่น
ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชุมชนกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีนั้นเห็นได้จากลักษณะลวดลายสลักอิฐชั้นฐานล่างขององค์พระธาตุพนมด้านทิศเหนือสลักรูปพญานันเสนทรงช้างพระยาอินทปัฐนครทรงม้ารูปบริวารในหมู่ลายดอกไม้ ด้านทิศใต้สลักรูปเสนาอำมาตย์ในหมู่ลายดอกไม้ ด้านทิศใต้สลักรูปพระยาจุลณีพรหมทัตทรงช้าง ราชบุตรทรงม้า ด้านทิศตะวันตกสลักรูปพระยาคำแดงทรงช้าง รูปเสนาอำมาตย์ขี่ม้า รูปบริวารในหมู่ลายดอกมันทวลี ส่วนลายสลักที่หน้าบันเหนือซุ้มประตูหลอกเป็นลวดลายแสดงคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู ด้านทิศเหนือรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ด้านทิศใต้จำหลักเป็นรูปพระอิศวรทรงโคอุศุภราช ด้านทิศตะวันออกน่าจะเป็นพระอินทร์ ด้านทิศตะวันตกจำหลักเป็นรูปพระวรุณทรงหงส์
ลักษณะสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร วิธีการเรียงอิฐ และหลักฐานที่พบภายใน องค์พระธาตุพนม ซึ่งมีกรอบประตูหินทราย และท่อโสมสูตรแสดงถึงความสัมพันธ์กับศิลปกรรมเขมร
ลักษณะของตัวอาคาร มีทางเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก ทางด้านทิศตะวันออกได้พบกรอบประตูหินทราย ซึ่งลักษณะการเข้ากรอบ และการเข้าเดือยประตูธรณีประตูจะมีรูกลมและมีร่องข้าง ๆ แบบเดียวกับกรอบประตูของปรางค์ขอม
ท่อโสมสูตร ผนังด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุพนมมีการฝังท่อน้ำ (ท่อโสมสูตร) ซึ่งสลักจากแท่งหินทรายตรงกลางเซาะเป็นร่อง เพื่อให้น้ำที่ใช้สักการะรูปเคารพที่อยู่ข้างในได้ไหลออกนอกตัวอาคารท่อน้ำนี้พบอยู่ด้านทิศเหนือของศาสนสถานเขมรเสมอ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ : 2522) หลักฐานดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าองค์พระธาตุพนมคงจะถูกสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู
หลักฐานที่แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปกรรมจามในประเทศเวียดนาม คือเสากลมประดับผนังแถบภาพสลักลายประดับผนัง รวมทั้งสิงห์สลักที่ประดับอยู่ชายซุ้ม (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล : 2532)
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปสัตว์ เช่น อัจมูขี (สัตว์ประหลาดคล้ายสิงห์) อยู่ที่มุมทิศตะวันออก ด้านเหนือ-ใต้ ประติมากรรมรูปม้าอาชาไนยและพลาหกคู่หันหน้าไปทางทิศเหนือ รูปแบบศิลปะในตัวสัตว์เหล่านี้ มีลักษณะเฉพาะที่อาจเรียกว่าศิลปกรรมพื้นถิ่นไม่เหมือนกลุ่มใด
องค์พระธาตุพนมจึงเสมือนเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของผู้คนหลากกลุ่มวัฒนธรรมซึ่งได้พัฒนาขึ้นจากการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชนที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
โดยรอบองค์พระธาตุพนมเป็นชุมชนที่นับถือพุทธศาสนา ที่ปรากฏหลักฐานจนถึงปัจจุบัน คือที่บ้านโปร่ง บ้านทู้ ซึ่งอยู่ห่างจากองค์พระธาตุพนมลงมาทางทิศใต้ มีใบเสมาเป็นหลักฐานสำคัญที่คงเหลือถึงปัจจุบัน ใบเสมาจำนวนหนึ่งมีลวดลายสลักเป็นรูปสถูป เช่นเดียวกับที่พบในเขตลุ่มน้ำมูล-ชี ส่วนด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุพนม ที่บ้านหลักศิลาก็พบใบเสมา หินทรายมีลายสลักรูปสถูป บริเวณกึ่งกลางใบ รูปลักษณะเช่นเดียวกับใบเสมาที่พบในภาคอีสาน
สรุปได้ว่าหลักฐานสมัยทวารวดี ที่ปรากฏในเขตจังหวัดนครพนม จะพบบริเวณ 2 ฟากของลำน้ำก่ำ ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณนี้ ชุมชนในระยะก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่โดยรอบ ได้เคลื่อนย้ายมายังศูนย์กลางชุมชนแห่งใหม่ โดยผ่านมาทางลำน้ำก่ำซึ่งมีต้นกำเนิดจากหนองหารมาสู่บริเวณที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม ผ่านอำเภอนาแก อำเภอธาตุพนม ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเส้นทางนี้ มีวัตถุเคารพเป็นใบเสมาเช่นกัน
วัฒนธรรมล้านช้าง
          วัฒนธรรมล้านช้าง (ราวพุทธศตวรรษที่ 20-24) ชุมชนต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงเรียงรายขึ้นไปในลำน้ำโขงและมีชื่อเมืองโคตรบูรณ์อยู่ด้วย ตามตำนานยังได้กล่าวถึงอาณาเขตของ ศรีโคตรบูรณ์ไว้ว่า มีอาณาเขต …ตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) หลวยใส่ ภูทอก ตอกใส่ภูเขียว (เขตจังหวัดมุกดาหาร และเขตจังหวัดกาฬสินธุ์) เหลียวใส่ภูผาเม็ด (เขตจังหวัดสกลนคร) เบ็ดใส่วังหลง วงใส่วังแมงก่าเบื้อ (ผีเสื้อ) ลีเลือใส่อวนตาล พานใส่ กวนตอ (อ้อมไปทางฝั่งลาว) งอใส่กวนเหมือด เหลือดใส่กวนพาน สักขยานใส่วังทะฮาน…
ในสมัยพระเจ้าสามแสนไทยซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์ล้านช้าง (พ.ศ. 1916-1959) ได้พยายามขยายอาณาเขตและอิทธิพลลงมาทางใต้อีก จึงได้ส่งราชบุตร ชื่อเจ้าลือไชยลงมาครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ ต่อมาในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิชัยแผ่นแผ้วกษัตริย์ ล้านช้าง (พ.ศ. 1999-2021) ได้ส่งราชโอรสชื่อท้าวหมื่นหลวง ไปครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ และได้สร้างพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างไว้ในพระอุโบสถวัดพระธาตุพนม โดยมีจารึกไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปว่าได้สร้างในปีศักราช 865 (พ.ศ. 2046)
องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิบัติดูแลตลอดมาในราวปี พ.ศ. 2073-2103 กษัตริย์แห่ง หลวงพระบางได้เสด็จมาทำกัลปนากับสร้างหอพระแก้วไว้ในบริเวณวัด ต่อมาราวปี พ.ศ.2101-2114 สมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์ ได้เสด็จมานมัสการองค์พระธาตุพนมและ วางระเบียบปฏิบัติแก่ข้าโอกาสที่พระโพธิสารได้ทรงถวายไว้ดูแลองค์พระธาตุพนม ในปี 2157 เจ้าพระยานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรณ์ เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวงได้มาทำการซ่อม ตีนพระธาตุทั้ง 4 ด้าน ก่อฐานบัวคว่ำปิดขอบล่างของผนังที่สลักเป็นรูปเทพพนม สร้างกำแพงแก้วชั้นใน ก่อซุ้มประตู 4 ด้าน สร้างกะตึบและถวายข้าโอกาส (ข้าทาสดูแลองค์พระธาตุพนม) ตลอดทั้งได้จารึกไว้ในแผ่นศิลาและสาปแช่งไว้ว่าหากมีผู้มาถือสิทธิครอบครองทำลายฐานวัตถุอันได้แก่ที่ดินไร่นาของวัดข้าโอกาสขอให้พบแต่ความวิบัติ
ต่อมาในสมัยเจ้าโพธิสาร ราชบุตรเจ้าพระยานครฯได้วางกฎว่า เจ้าเมืองต้องมาทอดกฐินที่วัดพระธาตุพนมทุกปีซึ่งเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงเจ้าเมืองรุ่นหลัง (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล : 2532) การบูรณะองค์พระธาตุพนมครั้งใหญ่อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2236-2245 พระราชครูหลวงโพนเสม็ก พระเถระองค์สำคัญของเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งอพยพหนีราชภัยมาได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุพนมตั้งแต่ฐานชั้นที่ 2 ขึ้นไปจนถึงยอดบนสุดซึ่งประดับด้วยฉัตรยอดพระธาตุก่อแบบศิลปะล้านช้าง อิทธิพลพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ที่ส่วนยอดของพระธาตุองค์ในได้พบจารึกภาษาบาลี จารบนลานทองแดงกล่าวว่า รฺกเติมทาสนำปิฎกเจาพฺสางแปฺง พฺรธาตุปรฺนมจา สกาษได 55 ตฺวับฺเบนเคาเทา รอดสฺงักาษได 64 ตฺวัดิลฺ วบรบูรแล หมายถึง เจ้าพ่อมาทำการก่อสร้างซ่อมแซมพระธาตุพนมตั้งแต่ศักราชได้ 55 (ปี จ.ศ. 1055/พ.ศ. 2236) เป็นต้นมาถึงศักราชได้ 64 ตัว (ปี จ.ศ. 1064 / พ.ศ. 2246)
ด้วยศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์พระธาตุพนม ในการบูรณะครั้งนี้จึงมีวัตถุสิ่งของที่ถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนมาก บรรจุไว้ในไห ห้อง หรือหม้อ แทรกไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายใน องค์พระธาตุพนม ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทั้งที่บุทอง บุเงิน ไม้ สำริด ชิน ว่าน ดินเผา ทองเหลือง ตะกั่ว แก้ว อัญมณี แผ่นจารึกลานเงิน ทอง ทองแดง เครื่องประดับมีค่า ได้แก่ แก้ว แหวน ลูกปัด กำไล ต่างหู ซึ่งทำจาก ทอง เงิน สำริด ทองเหลือง ทองแดง เงินเหรียญ สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 8 เงินลาด รางฮ้อย พดด้วง ส่วนเงินตราต่างประเทศ เช่น เงินเม็กซิโก เงินอินเดีย เงินเขมร ฮ่องกง บอร์เนียว เหรียญฟูนัน จารึกลานเงินที่พบภายใน องค์พระธาตุพนม ยังกล่าวถึงการนำอูบพระชินธาตุเจ้าที่จันทปุระ (นครเวียงจันทน์) มาฐาปนาในองค์พระธาตุพนมพนมด้วย
ศาสนสถานสำคัญอีกแห่ง คือรอยพระพุทธบาทเวินปลา ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณ โขดหินกลางแม่น้ำโขง ซึ่งรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นที่รู้จักทั่วกันในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีการแต่งตำนานอุรังคธาตุขึ้น บนฝั่งเยื้องกับรอยพระพุทธบาทพบพระพุทธรูปสำริด 1 เศียร ลักษณะพระพักตร์มีเค้าแบบอินเดียพระมาลาเป็นรูปกรวยคว่ำ มีรัศมีรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านบน พระกรรณเป็นขมวดม้วน และมีรอยขีดยาวลงมาถึงช่วงติ่งพระกรรณ ข้อสรุปเกี่ยวกับลักษณะทางพุทธศิลป์ของเศียรพระพุทธรูปองค์นี้ยังไม่ชัดเจนนัก นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นศิลปะลาว บางท่านกล่าวว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดี
สมัยรัตนโกสินทร์
          ในระยะนี้องค์พระธาตุพนมพนมยังคงเป็นที่เคารพสักการะของชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำโขง และได้รับการดูแลเรื่อยมา จากบันทึกของ เดอลาปอกต์และฟรองซิสกากนิเย่ (ทองสมุทรโดเร ลามหมาย เปรมจิตต์ แปล : 2539) กล่าวว่า ธาตุพนมเป็นหมู่บ้านสำคัญริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง มีบ้านร้อยกว่าหลังคา มีตลาดซื้อขายทาส ขายควาย พระพิทักษ์เจดีย์เป็นหัวหน้า ขึ้นตรงกับเจ้าเมืองละคอน หลวงภูษารัตน์ ปลัดกลางขึ้นกับเจ้าเมืองบางมุกซึ่งเป็นขุนนางสยามขึ้นตรงต่อมณฑลอุดร หมู่บ้านโดยรอบซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนม คือ หมู่บ้านหนองปิง (BAN NONG PING) บ้านดงภู (BAN DONG PHOU) บ้านปากคำ (BAN PAK KHAM) บ้านหัวดอน (BAN HOUA DON) คนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาวิหารวัดพระธาตุพนมนั้นมีประมาณ 2,000 คน ทำกิจวัตรตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม และต่อมาไม่ได้เสียค่าภาษีอากร ชาย 5 คนมีหน้าที่เฝ้าดูแลวิหารประมาณ 5 วัน เพื่อซ่อมแซมสิ่งที่ทรุดโทรมและสักการบูชาพระธาตุทุกวัน ด้วยน้ำและข้าวปลาอาหาร เหมือนกับการบวงสรวงเทวาอารักษ์ คณะมโหรีสยามได้บรรเลงเพลงให้เป็นเกียรติแก่พระธาตุทุกวัน พิธีไหว้พระธาตุมีขบวนฆ้องนำหน้าวางดอกไม้ธูปเทียนบูชาทั้ง 4 ด้าน ภิกษุสวดมนต์ ถวายเครื่องไทยทานซึ่งประกอบด้วยมะพร้าว กล้วยอ้อย น้ำผึ้ง ฝ้ายเส้น หมาก และพลู
พุทธศตวรรษที่  21-23
           ครั้น พุทธศักราช สภาพเศรษฐกิจและสังคมของนครพนม ในระยะนี้ค่อนข้างจะเฟื่องฟูทางตอนบนราบลุ่มแม่น้ำสงครามนั้นได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผากันอย่างกว้างขวาง พบแหล่งเตาเผากระจายอยู่ตามริมฝั่งลำน้ำสงคราม ตั้งแต่บ้านหาดแพงอำเภอศรีสงคราม ผ่านบ้านนาทม อำเภอนาทม ขึ้นไปจนเกือบถึงปากน้ำห้วยชางในเขตอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย รวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เตาเผาที่ผลิตขึ้นนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเตาขุดหรือเตาอุโมงค์ ปากเตาหันลงสู่แม่น้ำเนินดินที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แล้วขุดเจาะเป็นรูปเตาเข้าไปหรืออาจจะฉาบดินเหนียว รูปแบบของเตาเป็นเตาทรงประทุนปล่องไฟรูปสี่เหลี่ยมมน (ขจีพันธ์ เครือวรรณ : 2537) ที่อำเภอนาทมมีกลุ่มเตาเผาโบราณจำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเตาบ้านหนองอ้อ และกลุ่มเตาบุ่งอีซา ภาชนะที่ผลิตโดยมากจัดอยู่ในประเภทเนื้อแกร่ง ผิวสีเทา สีคล้ำ ไม่เคลือบผิว และเคลือบสีน้ำตาล เป็นต้น
ภาชนะดินเผาที่เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มชุมชนน้ำสงครามตอนล่าง คือ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง แบบเตาลุ่มน้ำสงครามใช้สำหรับใส่กระดูกคนตาย และมักพบในกลุ่มชุมชนเชื้อสายลาวอพยพ เป็นต้นว่า บ้านซ่งขมิ้น บ้านหัวยางคำ บ้านไชยบุรี บ้านตาลปากน้ำ ในเขตอำเภอท่าอุเทน บ้านยางงอย บ้านหาดแพง บ้านปากอูน บ้านท่าบ่ออำเภอศรีสงคราม
นอกจากการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแล้วเกลือก็เป็นผลิตผลที่สำคัญของชุมชนลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง โดยปรากฏร่องรอยเนินดิน จำนวน 8 เนิน ขนาดใกล้เคียงกัน คือสูง ประมาณ 6-10 เมตร ในเขตอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้แก่ สำนักสงฆ์โพนช้างขาว สันติธรรม โพนส้มโฮง โพนแต้ โพนกอก โพนตุ่น โพนจุลณี วัดโพธิ์เครือ สำนักสงฆ์ โพนหัวแข้ สันติธรรม หลักฐานที่พบ คือ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง หินดุ
พุทธศตวรรษที่  21-23
          ในปี พ.ศ. 2281 พระบรมราชาเอวก่าน (ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา) ได้ย้ายเมืองลงไปทางใต้ลำแม่น้ำโขงทางฝั่งซ้าย คือ บริเวณที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมศรีโคตรบอง (พระธาตุเมืองเก่า เมืองท่าแขก ส.ป.ป.ลาว) เยื้องที่ตั้งจังหวัดนครพนมในปัจจุบันนี้ เพราะว่าที่ตั้งเมืองเดิมถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงมากและให้เปลี่ยนนามเมืองจาก เมืองศรีโคตรบูรณ์ เป็น เมืองมรุกขนคร พระบรมราชา (เอวก่าน) มีบุตรธิดารวม 2 คน คือ ท้าวกู่แก้ว และนางสุวรรณทอง เมื่อท้าวกู่แก้วอายุได้ 15 ปี พระบรมราชาได้นำท้าวกู่แก้วไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้าผู้ครอง นครจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นประเทศเอกราชแยกออกมาตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ไม่ยอมขึ้นกับราชอาณาจักรเวียงจันทน์
ส่วนนางสุวรรณทองธิดาพระบรมราชาได้เป็นภรรยาท้าวคำสิงห์ บุตรเพี้ยรามแขก พระบรมราชา (เอวก่าน) ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2308 ท้าวคำสิงห์ผู้เป็นบุตรเขยได้นำ ราชบรรณการไปยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์หล่อ) แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ จึงได้แต่งตั้งให้ท้าวคำสิงห์เป็น พระนครานุรักษ์ เจ้าเมืองมรุกขนคร ฝ่ายท้าวกู่แก้ว ซึ่งเป็นมหาดเล็กเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ทราบข่าวว่าบิดาถึงแก่อนิจกรรมแล้ว และท้าวคำสิงห์พี่เขยได้เป็นเจ้าเมืองมรุกขนครแทนจึงทูลลาเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ออกไปรวบรวมไพร่พลยกขึ้นมาตามลำน้ำโขง เข้าไปตามลำน้ำเซบั้งไฟ (อยู่ตรงข้ามกับอำเภอธาตุพนม) รวบรวมผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ซ่องสุมผู้คนอยู่ที่บ้านแก่งเหล็กริมแม่น้ำยมแล้วตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า เมืองมหาชัยก่องแก้ว และเกลี้ยกล่อมผู้คนในเมืองต่างๆ บริเวณเซบั้งไฟซึ่งเคยขึ้นกับ เมืองศรีโคตรบูรณ์มาก่อน เช่นเมืองกะตาก เมืองกะปอง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ให้กระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นกับเมืองมรุกขนครอีกต่อไปและตระเตรียมกำลังจะยกมาตีเมืองมรุกขนคร พระนครานุรักษ์ (คำสิงห์) เจ้าเมืองมรุกขนครจึงไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์ ให้ยกมาช่วยปราบปรามแต่ก็ไม่ได้ จึงไปขอกำลังจากญวนที่เมืองภูชุน (เมืองเว้)ให้ยกมาช่วย โดยได้นำราชบรรณาการมีช้างพลาย 2 เชือก นอแรด 2 ยอด และเงิน 40 แนบไปถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินญวนด้วย พระเจ้าแผ่นดินญวนได้ส่งกองทัพถึง 6,000 คน ให้ยกมาช่วย ครั้นกองทัพญวนยกมาถึงเมืองคำเกิดและรู้ข่าวถึงท้าวกู่แก้วจึงแต่งกรมการพร้อมด้วยช้างพลายหนึ่งเชือกและนอแรดหนึ่งยอดพร้อมไพร่พล 100 คน ไปรับกองทัพญวนที่เมืองคำเกิดและแอบอ้างว่าเป็นกรมการเมืองมาจากเมืองมรุกขนครจนกองทัพญวนหลงเชื่อ ท้าวกู่แก้วได้รวบรวมไพร่พลได้อีก 3,000 คน สมทบกองทัพญวนอีก 6,000 คน รวมเป็น 9,000 คน ยกมาตีเมืองมรุกขนคร (ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) จนแตกพ่าย พระนครานุรักษ์ได้พาชาวเมืองมรุกขนครอพยพข้ามโขงมาทางฝั่งขวาและตั้งมั่นที่ดงเซกา (เขตติดต่อระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดหนองคายปัจจุบัน) พระนครานุรักษ์เจ้าเมืองมรุกขนครได้ไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์ให้ยกมาช่วยทาง นครเวียงจันทน์จึงแต่งตั้งให้ พระยาเชียงสา เป็นแม่ทัพคุมพลถึงหนึ่งหมื่นคนยกมาช่วยกองทัพเวียงจันทน์ตั้งทัพอยู่ที่บ้านหนองจันทน์ (เมืองเก่าใต้เมืองนครพนมในปัจจุบัน) ค่ายหนึ่งและตั้งทัพที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรืองริมห้วยบังฮวกอีกค่ายหนึ่ง (อยู่ในท้องที่อำเภอธาตุพนม) แล้วกระจายไพร่พลเป็นปีกกาเพื่อตีโอบล้อม กองทัพญวนได้สร้างแพลูกบวบ (ไม้ไผ่) เพื่อข้ามโขงมาตีกองทัพพระยาเชียงสา และกองทัพเมืองมรุกขนคร พระยาเชียงสาจึงให้ยิงปืนใหญ่สกัดไว้และยิงปืนใหญ่ตัดสะพานแพลูกบวบขาดกระจัดกระจาย แล้วยกกองทัพเรือเข้ารบกับไพร่พลของญวนในหาดทรายกลางแม่น้ำโขง กองทัพพระยาเชียงสามีชัยชนะฆ่าฟันพวกญวนล้มตายเป็นจำนวนมากจนศพของไพร่พลญวนลอยน้ำไปติดอยู่ในเกาะดอนกลางแม่น้ำโขง เกาะหนึ่งจนมีชื่อเป็นอนุสรณ์ว่าหาดแกวกองมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อพระยาเชียงสาแม่ทัพเวียงจันทน์ปราบปรามจนสงบราบคาบแล้วได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระนครานุรักษ์ (คำสิงห์) และท้าวกู่แก้วหาทางปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จจึงพิจารณาเห็นว่าหากให้พระนครานุรักษ์ปกครองเมือง มรุกขนครต่อไปอีก ก็คงเกิดความวุ่นวายต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงขอให้พระนครานุรักษ์รวบรวมผู้คนได้ประมาณ 3,000 คนยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง แล้วตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเวินทรายใกล้กับนครเวียงจันทน์และให้ท้าวกู่แก้วเป็นพระบรมราชา เจ้าเมืองมรุกขนครแทน แต่ให้ย้ายเมืองข้ามมาตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรืองตรงปากห้วยบังฮวก และได้สร้างวัดไว้กลางตัวเมือง 1 วัดชื่อว่าวัดมรุกขนคร เป็นวัดใหญ่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต และสร้างวัดขึ้นรอบ ๆ เมืองอีก 4 วัด คือ วัดดอนกอง วัดดงขวางท่า วัดขอนแก่น วัดนาถ่อนท่า (ดอนศาลเจ้า) ส่วนวัดอื่น ๆ ที่อยู่รายรอบได้แก่ วัดบ้านหลักศิลา วัดป่าแพงศรี วัดแก่งเมือง วัดท่าหนองจันทน์ วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง วัดศิลามงคล

พ.ศ.2321
ครั้นถึง พ.ศ.2321 ในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระตาพระวอพาสมัครพรรคพวก หลบหนีออกจากนครเวียงจันทน์แยกออกมาตั้งเมืองนครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน ขึ้นที่หนองบัวลำภู (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) กองทัพเวียงจันทน์ยกลงมาปราบปรามพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท) ยกกองทัพขึ้นมาปราบปรามกองทัพเวียงจันทน์ โดยได้ยกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขงและตีเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ นครจำปาศักดิ์ ขึ้นมาจนถึงนครเวียงจันทน์ ให้ขึ้นกับกรุงธนบุรี เมืองมรุกขนครจึงรวมอยู่ใน ข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรีตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
พระบรมราชา (กู่แก้ว) เจ้าเมืองมรุกขนครได้หลบหนีกองทัพไทยไปหลบซ่อนอยู่ที่เมืองคำเกิด คำม่วนได้ 5-6 เดือน จึงกลับมาเมืองมรุกขนคร และยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรีและได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2321 อุปฮาด (พรหมา) ซึ่งเป็นบุตรของพระบรมราชา (กู่แก้ว) ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระบรมราชา (พรมหา) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมรุกขนคร 
พ.ศ.2322
          ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.2322 เมืองมรุกขนครได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรีโดยได้เริ่มส่งส่วยและราชบรรณาการต่อกรุงธนบุรีตั้งแต่ปีชวด จุลศักราช 1142 (พ.ศ.2322) เป็นต้นมา พระบรมราชา (พรหมา) คือต้นตระกูล พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่งอพยพไปตั้งเมืองสกลนครใน พ.ศ.2381 ในสมัยรัชกาลที่ 3 กรรมการชั้นผู้ใหญ่ของเมืองมรุกขนครในครั้งนั้น ดังนี้
ราชวงค์ (อุดทัง) น้องพระบรมราชา (พรหมา) เป็นอุปฮาด
ราชบุตร (อุ่นเมือง) น้องพระบรมราชา (พรหมา) เป็นราชวงค์
ท้าวศรีวิชัย น้องพระบรมราชา (พรหมา) เป็นราชบุตร
พระบรมราช (พรหมา) มีบุตรธิดารวม 21 คน คือท้าวหมาแพง ท้าวกิ่งหงษา ท้าวหมาหล้า ท้าวคำสาย ท้าวพูเพ ท้าวจันทร์ ท้าววัง ท้าวปุย ท้าวขว้าง ท้าวโอ ท้าวขัตวัน ท้าวแสง ท้าวโก้ นางเกตุ นางสุรคัณที นางจิก นางจอม นางแก้วปัดคำ นางสุรีย์รวงคำ นางคิม ส่วนอุปฮาด (อุดทัง) มีบุตรธิดารวม 3 คน คือ ท้าวจุลณี นางยอด นางสะ ต่อมาอุปฮาด (อุดทัง) ได้ถึงแก่กรรม ลุจุลศักราช 1148 ปีมะเมีย อัฐศก (พ.ศ.2329) พระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองพิจารณาเห็นว่าเมืองมรุกขนคร ตั้งอยู่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริมห้วยบังฮวกมาได้ครบ 20 ปี แล้วนับวันที่จะถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังและบ้านเรือนก็พังลงแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมากจึงได้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้ง ทางเหนือโดยไปตั้งเมืองที่บ้านหนองจันทน์
พุทธศตวรรษที่  24-26
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองจาก เมืองมรุกขนคร เป็น นครพนม

พ.ศ.2336
ลุจุลศักราชได้ 1155 ปีฉลู เบญจศก (พ.ศ.2336) หลังจากที่พระบรมราชา (พรหมา)เป็นเจ้าเมืองนครพนมได้ 14 ปี เจ้าเมืองนครพนมได้ถูกกล่าวหาว่าคบคิดกับพระเจ้านันทเสนแห่งนครเวียงจันทน์จะเป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้กล่าวฟ้องลงไปกรุงเทพฯ ว่าพระเจ้านันทเสนแห่งนครเวียงจันทน์มีหนังสือไปชักชวนพระเจ้าแผ่นดินญวน คือ พระเจ้ากาวหว่างเหงี่ยนจัวให้ยกกำลังมาช่วยรบกับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ไม่ทรงเชื่อจึงจับผู้ฟ้องไว้ แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้านันทเสนแห่งนครเวียงจันทน์และพระบรมราชาแห่งนครพนม ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและแก้คดีที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ.2337 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงค์ตอนหนึ่งว่า
…ในปีนั้นมีผู้ฟ้องว่า เจ้านันทเสนเจ้านครล้านช้างเวียงจันทน์กับพระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนมคบคิดกันเป็นกบฏ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีศุภอักษรขึ้นไปถึง เจ้านันทเสน เจ้านครล้านช้างและพระบรมราชามีใจความว่า มีผู้ฟ้องว่าเป็นกบฏ แต่ไม่ทรงเชื่อให้เอาโจทก์ จำขังไว้ ครั้นจะนิ่งเสียไม่ว่ากล่าวก็จะเป็นการแผ่นดินสำคัญอยู่ ถ้าเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์และ พระบรมราชาซื่อสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ให้ลงไปเฝ้าสู้ความโดยเร็วถ้าคิดจะประทุษร้ายจริงแล้วก็ให้คิดตกแต่งบ้านเมืองไว้รับกองทัพเถิดให้หลวงทรงพลเจ้ารบกรมเกราะทองขวาเชิญขึ้นไป เจ้านันทเสนและพระบรมราชาแจ้งในศุภอักษรแล้วก็ลงมาเฝ้าโดยดีโปรดให้ชำระความเจ้านันทเสนก็แพ้โจทก์ รับสั่งให้ลงโทษประหารชีวิตกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทูลขอพระราชทานโทษไว้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวงศ์ผู้น้องกับพระอนุชิตราชาขึ้นไปยัง นครล้านช้าง แล้วให้เจ้าอินทวงศ์ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อไป…
เมื่อเจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรม พระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ได้นำ พระศรีเชียงใหม่(สุดตา) ซึ่งเป็นพี่ภรรยาของพระบรมราชา (พรหมา) และเป็นราชนัดดาของ พระเจ้าวิชัยราชสุริยวงศ์ (เจ้าน้า) แห่งอาณาจักรจำปาศักดิ์ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระศรีเชียงใหม่ (สุดตา) เป็นพระบรมราชา (สุดตา) เจ้าเมืองนครพนม ตั้งแต่ปีวอก อัฏฐศก จุลศักราช 1158 (พ.ศ.2339) เป็นต้น
พระบรมราชา (สุดตา) คือต้นตระกูลของชาวนครพนม เช่นตระกูล ณ นครพนม สูตรสุคนธ์ พิมพานนท์ มังคละคีรี พรหมประกาย สิทธิรัตน์ ฯลฯ เป็นต้น
ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ดังนี้
ราชวงศ์ (อุ่นเมือง) น้องพระบรมราชา (พรหมา) เป็นอุปฮาด
ราชบุตร (ศรีวิชัย) น้องพระบรมราชา (พรหมา) เป็นราชวงศ์
ท้าวมัง บุตรพระบรมราชา (สุดตา) เป็นราชบุตร
ฝ่ายท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสาย บุตรพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองคนเก่าและท้าวจุลณี บุตรฮุปฮาด (อุดทัง) ไม่พอใจที่พระบรมราชา (สุดตา) ได้เป็นเจ้าเมือง จึงเกิดบาดหมางและแตกแยกกันขึ้น ต่อมาท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสาย และท้าวจุลณี ได้พาผู้คนอพยพข้ามโขงไปทางฝั่งซ้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านกวนกู่กวนงัวแขวงเมืองมหาชัยเดิมซึ่งพระบรมราชา (กู่แก้ว) ผู้เป็นปู่เคยตั้งเมืองมหาชัยก่องแก้ว (เมืองมหาชัย แขวงคำม่วน ส.ป.ป.ลาว) และไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม
พระบรมราชา (สุดตา) จึงมีใบบอกขึ้นไปถึงนครเวียงจันทน์ และมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาลงไปกรุงเทพฯ เพื่อขอกำลังขึ้นมาช่วยปราบปราม จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้พระยาสุโพ พระยามหาอำมาตย์ เป็นแม่ทัพยกกำลังขึ้นมาสมทบกองทัพ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ มาช่วยปราบปราม ส่วนพระเจ้าอินทวงศ์แห่ง นครเวียงจันทน์ก็ได้แต่งตั้งให้พระยาสุโพเป็นแม่ทัพยกทัพมาสมทบอีกทัพหนึ่ง กองทัพที่มาช่วยได้ตั้งทัพอยู่ที่บ้านโพธิ์คำ (ที่ตั้งจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) พระยามหาอำมาตย์แม่ทัพได้แต่งกรมการข้ามฟากไปเกลี้ยกล่อม ท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสาย ท้าวจุลมณี ให้อพยพกลับคืนมาอยู่ที่เมืองนครพนมตามเดิมแต่ก็ไม่ยินยอม
พ.ศ.2340
ครั้นถึง พ.ศ.2340 ปีมะเส็ง นพศก จ.ศ.1159 พระยามหาอำมาตย์ให้กองทัพเวียงจันทน์ ยกข้ามโขงไปตีกวนกู่ กวนงัว ดังมีบันทึกในพงศาวดารเวียงจันทน์ตอนหนึ่งว่า …ศักราชได้ 1159 ปี ไส้เจ้าอินทร์มาม้างกวนงัว…กองทัพท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสายและท้าวจุลมณีแตกพ่ายหนีจาก กวนกู่ กวนงัว กองทัพไทยและกองทัพเวียงจันทน์จึงได้แต่กวาดต้อนผู้คนกลับมายังเมืองนครพนม พระยามหาอำมาตย์จึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองนครพนมจากบ้านหนองจันทน์มาตั้งที่ บ้านโพธิ์คำ คือที่ตั้งจังหวัดนครพนมในปัจจุบันนี้
พ.ศ.2344
ครั้นถึง พ.ศ.2344 ปีระกา ตรีศก จ.ศ.1163 เมื่อกองทัพไทยและกองทัพเวียงจันทน์ ยกทัพกลับไปแล้ว ท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสาย และท้าวจุลณีได้รวบรวมผู้คน ได้ไพร่พล 6,000 คนยกทัพมาตั้งที่บ้านช้างราชริมฝั่งแม่น้ำโขงทางฝั่งซ้าย แล้วยกทัพมาตีเมืองนครพนม พระบรมราช (สุดตา) เจ้าเมืองนครพนมจึงไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์และนครจำปาศักดิ์มาช่วยอีกครั้งหนึ่งและเข้าตีพวกท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสาย และท้าวจุลมณีที่บ้านโพธิ์คำ (เมืองนครพนม) ดังมีบันทึกในพงศาวดารย่อของเวียงจันทน์ตอนหนึ่งว่า …ศักราชได้ 163 ตัว ปีฮวงเฮ้า เจ้าอินทร์ เจ้านครพนม เจ้าจำปาศักดิ์ และหัวเมืองลาวทั้งหลายมาพังโพธิ์คำแต่ ปีเก่าฮอดปีใหม่…
ท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสายและท้าวจุลณี แตกพ่ายและหลบหนีข้ามโขงไปทางฝั่งซ้ายอีกพระยาสุโพแม่ทัพเวียงจันทน์และอุปฮาด (อุ่นเมือง) จึงแต่งให้นางเกตุผู้เป็นพี่และนางสุรคันที ผู้เป็นน้องของท้าวกิ่งหงษาพร้อมด้วยบุตรหลานชาวเมืองนครพนมอีกรวม 100 คน นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาและขอร้องต่อท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสายและท้าวจุลณีว่าขออย่าให้พี่น้องรบรา ฆ่าฟันต่อกันอีกเลย ท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสาย และท้าวจุลณีก็ยินยอม แต่จะขอตั้งเมืองขึ้นใหม่ไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนมแล้วอพยพผู้คนกลับไปตั้งอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วตามเดิม ต่อมาพระยาสุโพแม่ทัพเวียงจันทน์พร้อมด้วยอุปฮาด (อุ่นเมือง) เมืองนครพนมได้นัดแนะให้พวกมหาชัยก่องแก้วมาเจรจาและพบกันที่พระธาตุศรีโคตรบอง ซึ่งเป็นพระธาตุเมืองเก่าของเมืองมรุกขนคร (พระธาตุเมืองเก่าเมืองท่าแขก ส.ป.ป.ลาว) ท้าวกิ่งหงษา ท้าวคำสายและ ท้าวจุลณี ได้เดินทางมาพบที่พระธาตุเมืองเก่าและดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อหน้า องค์พระธาตุศรีโคตรบอง ว่าจะจงรักภักดีต่อกรุงเทพมหานคร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวจุลณีบุตรเป็นอุปฮาด (อุดทัง)เมืองนครพนม พระพรหมอาสา เป็นเจ้าเมืองมหาชัย พร้อมกับแต่งตั้งกรมการเมือง ดังนี้
ท้าวกิ่งหงษา บุตรพระบรมราชา (พรหมา) เมืองนครพนม เป็นอุปฮาด
ท้าวคำสาย บุตรพระบรมราชา (พรหมา) เมืองนครพนม เป็นราชวงศ์
ท้าวน้อย บุตรพระพรหมอาสา (จุลณี) เมืองมหาชัย เป็นราชบุตร
บุตรหลานของเจ้าเมืองมหาชัย และกรมการเมืองซึ่งแยกมาจากเมืองนครพนมนี้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พากันอพยพไปตั้งเป็นเมืองสกลนคร ใน พ.ศ. 2381 ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 ว่า พรมหมสาขา ณ สกลนคร คำว่า พรหม มาจากบรรพบุรุษคือ พระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองนครพนม คำว่า สาขามาจากคำว่า กิ่ง ซึ่งบรรพบุรุษคือ พระพรหมอาสา (กิ่งหงษา) เจ้าเมืองมหาชัย
เมื่อพระบรมราช (อุ่นเมือง) ถึงแก่กรรม เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ซึ่งมีอิทธิพลมากในแถบหัวเมืองลุ่มแม่น้ำโขง จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ได้เป็นผู้ดูแลหัวเมืองต่าง ๆ จึงได้กราบบังคลทูลพระกรุณาขอให้ราชวงศ์ (มัง) เป็นเจ้าเมืองนครพนมแทนที่จะขอให้อุปฮาด (ศรีวิชัย) บุตรเจ้าเมืองคนเก่าเป็นเจ้าเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ราชวงศ์ (มัง) บุตรพระบรมราชา (สุดตา) เป็นพระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนม ตั้งแต่ พ.ศ. 2349 เป็นต้นมา พร้อมกับได้แต่งตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ดังนี้
อุปฮาด (ศรีวิชัย) เป็นอุปฮาดตามเดิม
ราชบุตร (จันโท หรือ ชื่น) น้องพระบรมราชา (มัง) เป็นราชวงศ์
ท้าวอรรคราช บุตรพระบรมราชา (มัง) เป็นราชบุตร
พ.ศ.2349
พ.ศ. 2349 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมและพระยาจันทรสุริยวงศ์ (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ร่วมกันสร้างถนนและสะพานจากริมฝั่งโขงไปยังองค์พระธาตุพนมพนม ดังมีบันทึกในพงศาวดารเวียงจันทน์ตอนหนึ่งว่า …ศักราช ได้ 168 ตัว ปียี่ (ชาล) เจ้าอนุฯ แลเจ้าเมืองละคอน (นครพนม) แลบังมุก (มุกดาหาร) สร้างขัว (สะพาน) ไปวัดพระธาตุพนม
พ.ศ.2352
พ.ศ. 2352 อุปฮาด (ศรีวิชัย) บุตรเจ้าเมืองนครพนมเก่าซึ่งไม่พอใจที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองอยู่แล้วเกิดวิวาทบาดหมางกับเจ้าเมืองนครพนม ได้พาไพร่พลชาวเมืองนครพนมจำนวนถึง 2,000 คน อพยพหนีลงไปกรุงเทพฯ ระหว่างนี้การศาสนาก็ยังไม่ถูกละเสีย ได้พบจารีตระบุ ปี พ.ศ. 2464 กล่าวถึง การสร้างถาวรวัตถุถวายสร้างพระพุทธรูปลีลา 2 องค์ การสาปแช่งผู้ที่ถือครองและทำลายทานวัตถุ อันได้แก่ ที่ดิน ไร่นา ทาสีโอกาสที่อดีตท้าวพระยา ได้อุทิศไว้สร้าง หอสวดมนต์ ฟื้นฟูพระศาสนาและสร้างอุโบสถ
พ.ศ.2369
ครั้นถึง พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯได้กวาดต้อนผู้คนทาง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงภาคอีสานตั้งแต่เมืองนครราชสีมาไปเป็นกำลังแก่เวียงจันทน์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นจอมทัพยกไป ปราบปรามเจ้าอนุวงศ์โดยมี เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้า เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้ยกทัพไปปราบและท้ายสุดไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองนครพนม ส่วนพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม ได้ถูกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ พาหลบหนีกองทัพไทยข้ามโขงไปตามลำน้ำเซบั้งไฟ (อยู่ตรงข้ามกับอำเภอธาตุพนม) และไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้ว กองทัพไทยได้ติดตามกวาดล้างไปถึงแดนญวน การศึกสงครามระหว่างล้านช้างกับกรุงเทพฯ ครั้งนี้ทำให้ชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงระส่ำระสาย ถ้าไม่ถูกกวาดต้อนไปกรุงเทพฯ ก็หนีเข้าป่าไปบรรดาข้าวัดที่มีหน้าทำนุบำรุง วัดพระธาตุพนมก็ขาดจำนวนไปมาก องค์พระธาตุพนมและอาคารศาสนสถานต่าง ๆ จึงทรุดโทรมไป
พ.ศ.2377
พ.ศ. 2377 พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) แม่ทัพได้ยกกำลังขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนมพร้อมด้วยกองทัพเมืองเขมราฐ เมืองยโสธร เมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิเพื่อคอยระแวดระวังป้องกันกองทัพเจ้าอนุวงศ์ และต่อมาได้ยกกองทัพข้ามโขงออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ส.ป.ป. ลาว ในปัจจุบัน) ในแถบเมืองวัง เมืองพิน เมืองนอง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองแสก เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ผู้ไทย ข่า กะโซ่ กะเลิง แสก ย้อ ฯลฯ ให้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นเมืองเรณูนคร เมืองวาริชภูมิ เมืองกุฉินารายณ์ เมืองท่าอุเทน เมืองวานรนิวาส เมืองอากาศอำนวย เมืองสว่างแดนดิน เป็นต้น
พ.ศ.2378
ครั้นถึง พ.ศ. 2378 (ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. 1197) เมื่อพระพรหมอาสา (จุลณี) เจ้าเมืองมหาชัยก่องแก้วถึงแก่กรรมแล้วอุปฮาด (คำสาย) และราชวงศ์ (คำ) ได้นำชาวเมืองมหาชัย ก่องแก้ว ซึ่งเดิมเป็นคนที่อพยพไปจากเมืองนครพนม ข้ามโขงกลับคืนมาขอพึ่งพระบรม โพธิสมภารและสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพมหานคร พระยามหาอำมาตย์แม่ทัพจึงให้ไปตั้งเมืองอยู่ที่ริมน้ำหนองหารบริเวณเมืองสกลวาปีเก่า (เมืองสกลวาปีเป็นคนจากกาฬสินธุ์ แต่ได้อพยพไปอยู่ ที่เมืองพนมสารคาม และประจันตคามหมด) ต่อมาอุปฮาด (คำสาย) ได้ถึงแก่กรรม ในพ.ศ. 2381 (ปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ 1200) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราชวงศ์ (คำ) เมืองมหาชัยก่องแก้วเป็น พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองและพระราชทานนามเมืองว่า เมืองสกลนคร (จากเอกสาร ร.จ.ศ. 1200 เลขที่ 10 หอสมุดแห่งชาติ)
อนึ่งเนื่องจากอาณาเขตเมืองสกลนคร เมืองกาฬสินธุ์ เมืองมุกดาหาร และเมืองหนองหารแบ่งเขตแดนกันที่ริมน้ำหนองหาร จึงมีท้องตราพระราชสีห์ใหญ่ ให้เมืองทั้งสี่นี้แบ่งเขตแดนให้เมืองสกลนคร ทางฝ่ายเมืองนครพนมหลังจากที่พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมหลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แล้วพระยามหาอำมาตย์แม่ทัพพิจารณาเห็นว่าพระสุนทรราชวงศา (ฝ้ายหรือฝ่าย) เจ้าเมืองยโสธรมีความดีความชอบในราชการสงครามปราบปรามเจ้าอนุวงศ์มากจึงมอบให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร มีอำนาจสิทธิขาดว่าราชการทั้งสองเมืองคือ เมืองนครพนม และเมืองยโสธร ตั้งแต่ปีขาล โทศก จ.ศ. 1192 (พ.ศ. 2373) พระสุนทรราชวงศา (ฝ้ายหรือฝ่าย) เจ้าเมืองยโสธรได้มอบหมายให้อุปฮาดเมืองยโสธรอยู่รักษาราชการทางเมืองยโสธร ส่วนพระสุนทรราชวงศาอยู่ประจำรักษาราชการในตำแหน่ง เจ้าเมืองนครพนมถึง 22 ปี (พ.ศ. 2373 ถึง พ.ศ. 2395) จึงได้กลับไปว่าราชการทางเมืองยโสธรเมืองเดียว อนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามสกุลให้เจ้าเมืองยโสธรว่า ปทุมชาติ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 (ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2459) บุตรหลานของเจ้าเมืองยโสธรซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองนครพนมจึงใช้นามสกุลปทุมชาติอยู่ด้วย
พ.ศ.2381
ครั้นถึง พ.ศ. 2381 (ปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ. 1200) พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรผู้อยู่รักษาราชการในเมืองนครพนม ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระบรมราช (มัง) อดีตเจ้าเมืองนครพนมพร้อมด้วยกรมการเมืองบางคน และบุตรหลานที่อพยพหลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ที่ เมืองมหาชัยก่องแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กลับมาอยู่ที่เมืองนครพนมตามเดิมได้แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริว่าพระบรมราชา (มัง)เจ้าเมืองนครพนมก็ชราภาพ และป่วยเป็นคนพิการจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรราชวงศาเป็น เจ้าเมืองนครพนมและเจ้าเมืองยโสธรทั้งสองเมือง พระราชทานนามบรรดาศักดิ์และเครื่องยศให้สูงขึ้นกว่าเดิม คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระสุนทรราชวงศามหาขัตติยชาติ ประเทศราชวาเวียง ดำรงศักดิ์ยศทศทิศฤาไชย ไตรยศรี พิชัยสงคราม กระโถนทองคำหนึ่ง โต๊ะเงิน คาวหวาน กระบี่บั้งทองหนึ่ง ปืนคาบศิลาคอลาย 2 กระบอก เสื้อกำมะหยี่ติดขลิบแถบทองตัวหนึ่ง หมวกตุ้มปี่ยอดทองคำประดับพลอยหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วตัวหนึ่ง เสื้อญี่ปุ่นลายเขียนตัวหนึ่ง แพรโล่ผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง และสัปทนสักหลาดคันหนึ่ง เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ (จากเอกสารสมัย ร. 3 จ.ศ.1200 เลขที่ 20 หอสมุดแห่งชาติ)
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในเมืองนครพนม ดังนี้
ท้าวจันโท น้องพระบรมราชา (มัง) เป็นอุปฮาด
ท้าวอรรคราช บุตรพระบรมราชา (มัง) เป็นราชวงศ์
ท้าวอินทวงศ์ เมืองยโสธร เป็นราชบุตร
ในระหว่างที่ พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนมอยู่ถึง 22 ปี ได้มีเหตุการณ์และตั้งเมืองขึ้นใหม่โดยยกกองทัพออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้าย แม่น้ำโขง (ดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน) คือจากเมืองวัง เมืองพิณ เมืองนอง เมืองเซโปน เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองคำอ้อคำเขียว เมืองแสก เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ คือ ผู้ไทย ข่า กะโซ่ กะเลิง แสก ย้อ โย้ย ให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในท้องที่เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์
ชาวผู้ไทย จากเมืองวังจำนวน 2,647 คน ตั้งเป็นเมืองขึ้นที่บ้านดงหวาย ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ให้ท้าวสายนายครัวเป็นพระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนครคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2387 ขึ้นกับเมืองนครพนม (จากเอกสารจดหมายเหตุ ร. 3 จ.ศ.1207 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)
ให้ชาวแสก ซึ่งอพยพมาจากเมืองแสก (อยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามประมาณ 20 กม. ปัจจุบันเป็นเมืองร้าง) อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านนาลาดควายจำนวน 1,170 คน เมื่อ พ.ศ. 2380 แล้วต่อมาให้ตั้งขึ้นเป็นกองอาทมาตคอยลาดตระเวนชายแดน ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองอาทมาตขึ้นเมืองนครพนม ให้ฆานบุดดีเป็นหลวงเอกสาร เจ้าเมืองอาทมาต พ.ศ. 2450 จึงยุบเมืองอาทมาตลงเป็นตำบลอาจสามารถ ขึ้นอำเภอเมืองนครพนม
ให้พวกชาวกะโซ่ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน 449 คนเมื่อ พ.ศ. 2380 ตั้งขึ้นเป็นเมืองที่บ้านเมืองราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อเป็น เมืองรามราชขึ้นเมืองนครพนม ให้ท้าวบัวจากเมืองเชียงฮ่มเป็นพระอุทัยประเทศ เจ้าเมืองรามราชตั้งแต่ พ.ศ.2388 (จากจดหมายเหตุ ร. 3 จ.ศ. 1207 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ยุบลงเป็นตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน
ให้ชาวโย้ยซึ่ง อพยพมาจากบ้านหอมท้าวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน 2,339 คน ไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านม่วงริมน้ำยาม (แยกจากแม่น้ำสงครามซึ่งไหลสู่แม่น้ำโขง) เมื่อ พ.ศ. 2380 ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวย ไม่ยอมขึ้นกับเมืองสกลนคร ขอขึ้นกับเมืองนครพนม ตั้งแต่พ.ศ. 2396 ให้ท้าวศรีสุราชเป็นหลวงพลานุกูล เจ้าเมืองอากาศอำนวย(จากเอกสารจดหมายเหตุสมัย ร.4 จ.ศ. 1215 เลขที่ 38 หอสมุดแห่งชาติ) ภายหลังโอนไปขึ้นเมืองสกลนครเมื่อ พ.ศ. 2457 คือท้องที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และท้องที่อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
พวกไทยย้อ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน) ต่อมาพากันอพยพหลบหนีไปกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2369 ไปตั้งอยู่ที่ เมืองปุงเลงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงริมน้ำหินบูรณ์ พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองนครพนม ได้เกลี้ยกล่อมให้กลับมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านอุเทน เมื่อ พ.ศ. 2375 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น เมืองท่าอุเทนขึ้นกับเมืองนครพนมในปี พ.ศ. 2375 ตั้งให้ท้าวพระปทุมเป็นพระศรีวรราชเจ้าเมืองคนแรก จนถึง พ.ศ. 2369 จึงให้ยกเมืองท่าอุเทน ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร (เอกสาร ร.4 จ.ศ. 1215 เลขที่ 65 หอสมุดแห่งชาติ) ในการปราบปรามเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2369 ราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐ คุมกำลังพลตั้งอยู่ที่ปากน้ำสงครามริมฝั่งโขง มีความดีความชอบในราชการสงครามมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองไชยบุรี โดยอพยพครอบครัวชาวเขมราฐและยโสธรมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยบุรี ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐเป็นพระไชยราชวงศา เจ้าเมืองไชยบุรีเมื่อ พ.ศ. 2381 (จากเอกสาร ร. 3 จ.ศ. 1203 เลขที่ 69 หอสมุดแห่งชาติ)
พ.ศ.2383
ครั้งถึง พ.ศ.2383 (ปีชวด โทศก จ.ศ. 1202) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริว่าเมื่อครั้งพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) ยกทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองนครพนมแล้วยกทัพออกไปกวาดต้อนผู้คน ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงยังหาได้สิ้นเชิงไม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาสงครามและเจ้าอุปราช (ติสสะ) แห่งนครเวียงจันทน์ ซึ่งได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนมอีกและให้เกณฑ์กองทัพเมืองนครพนมเมืองมุกดาหาร เมืองเขมราฐ เมืองหนองคาย และเมืองอุบลราชธานี ยกกองทัพข้ามโขงออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้หมดสิ้น (จากพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 3)
พ.ศ.2391
พ.ศ. 2391 พระบรมราชา (มัง) อดีตเจ้าเมืองนครพนมชราภาพมากขอกลับไปอยู่ เมืองยโสธรตามเดิม ต่อมาอุปฮาดราชวงศ์และกรมการเมืองนครพนม ได้ฟ้องกล่าวโทษ พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองว่าติดต่อกับองค์จูลือญวนจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระสุนทรราชวงศามีอำนาจว่าราชการในเมืองยโสธรเมืองเดียว ส่วนเมืองนครพนมให้อุปฮาด (จันโท) รักษาราชการแทนต่อไป (จากเอกสาร สมัย ร.4 จ.ศ. 1216 เลขที่ 4 หอสมุดแห่งชาติ)
อุปฮาด (จันโท) ได้เป็นผู้ว่าที่เจ้าเมืองนครพนม ตั้งแต่ พ.ศ. 2396 จนถึง พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อุปฮาด (จันโท) เป็นพระนครานุรักษาธิบดีศรีโคตรบูรณ์หลวงเจ้าเมืองนครพนม พระพนมนครานุรักษาอธิบดี (จันโท) ต่อมาได้แต่งตั้งกรมการเมืองนครพนม ดังนี้
ท้าวอรรคราช บุตร พระบรมราชา (มัง) เป็นอุปฮาด
ท้าวโถง บุตร พระบรมราชา (มัง) เป็นราชวงศ์
ท้าวเลาคำ บุตร พระบรมราชา (มัง) เป็นราชบุตร
อนึ่งเมื่อพระพนมนครานุรักษ์ฯ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง แล้วได้สร้างพระพุทธรูปศิลา (หินทราย) น้ำหนักเท่าตัวเองถวายไว้เป็นพระพุทธบูชาไว้ ณ วัดโอกาส เมืองนครพนม ศรีศุภมงคล จุลศักราช ได้ 1217 ตัว (พ.ศ.2398) ปีเถาะสัปตศก เดือน 10 ขึ้น 4 ค่ำวันเสาร์ (ตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2398) ได้ฤกษ์ชื่อว่า โหริณีลูกดีพิจิตร สถิตอยู่ในประสพราศีใสบ่อ เศร้า สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชกูณา (กรุณา) ปลงประสิทธิ์พระองค์เป็น เจ้าอุปฮาด ขึ้นเป็นพระพนมนครานุรักษาธิบดี ศรีโคตรบองหลวงเจ้าเมืองนครบุรีราชธานี มีพระศรัทธาสร้างพระพุทธรูปศิลาหนักท่อ (เท่า) ตัวเองไว้เพื่อให้เป็นมังคละในวันเสวยราชย์บทบาทคาถาว่า ทีฆายุโก โหตุ อายุวรรโณ สุขํ พลํ ดังนี้แล…
พ.ศ.2400
พ.ศ. 2400 (ปีมะเส็ง นพศก จ.ศ. 1219) พระพนมนครานุรักษ์ฯ เจ้าเมืองได้ค้นพบพระพุทธรูปองค์แสน ณ ถ้ำกระบอกภูเขาควาย แขวงเมืองมหาชัย ซึ่งเป็นเขตเมืองนครพนม ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (เมืองมหาชัยแขวงคำม่วนของลาว) หน้าตักกว้าง 1 ศอก 7 นิ้ว สูงหนึ่งศอกคืบเจ้าเมืองนครพนมจึงแต่งตั้งให้ราชวงศ์คุมไพร่รวม 79 คน อัญเชิญ พระพุทธรูปองค์แสนออกจากถ้ำได้จัดพิธีสมโภชอยู่ 3 วัน เสร็จแล้วจึงตั้งกระบวนแห่อัญเชิญพระพุทธรูปองค์แสนมายังริมฝั่งโขงแล้วจัดเรือปี่พาทย์ เรือคำแคน เรือมโหรีอัญเชิญ พระพุทธรูปข้ามโขงมายังเมืองนครพนมตั้งพิธีสมโภชอยู่ที่นครพนมอีก 3 คืน แล้วมอบให้ ราชบุตร (เลาคำ) เพี้ยจันทเสนา เมืองนครพนมพร้อมด้วยข้าหลวงที่เดินทางขึ้นมารับจากกรุงเทพฯ คือเจ้าเหมน บุตรอุปราช (ติสสะ) แห่งนครเวียงจันทน์ที่รับราชการที่กรุงเทพฯ และ หมื่นนราสงครามอัญเชิญพระพุทธรูปองค์แสน พร้อมกับได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูป และสิ่งของจากเมืองนครพนมอีกคือ พระทองหล่อ หน้าตักกว้าง 7 นิ้วอีกหนึ่งองค์ เขากระทิงหดข้างซ้ายยาว 14 นิ้วใหญ่ 10 นิ้ว ข้างขวายาว 11 นิ้วใหญ่ 10 นิ้ว เขาวัวหดข้างซ้ายยาว 5 นิ้วใหญ่ 11 นิ้ว ข้างขวายาวตามเดิม นำลงไปกรุงเทพฯ เพื่อทูลเกล้าฯถวาย ปัจจุบัน พระองค์แสนประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารของวัดปทุมวนาราม (วัดสระประทุม) ในวิหารเดียวกับพระเสริมและพระใสจากนครเวียงจันทน์(จากเอกสาร ร.4 จ.ศ. 1219 เลขที่ 30 หอสมุดแห่งชาติ) พ.ศ. 2403 (ปีวอก โทศก จ.ศ. 1222) ราชวงศ์ (โถง) ซึ่งเป็นบุตรพระบรมราชา (มัง) ถึงแก่กรรมและตระลาการได้ตัดสินว่าราชวงศ์ได้ถึงแก่กรรมเพราะพ่อของภรรยาน้อย ใส่หว้าน (ว่านพิษ) เนื่องจากภรรยาน้อยซึ่งอยู่ที่บ้านดอนหมาไหลฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (เยื้องจังหวัดนครพนม) จ้างคนใส่หว้าน (ว่านพิษ) และใช้คาถาอาคมบิดไส้ทำให้ราชวงศ์ถึงแก่ความตาย จึงมอบให้ ราชบุตร (เลาคำ) คุมตัวเพี้ยเพชรอาสา เพี้ยศรีสุธรรม ผู้เป็นจำเลยพร้อมกับตำรามนต์คาถาบิดไส้อันถือว่าเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินลงไปกรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาโทษต่อไปอีก (จากเอกสาร ร.4 จ.ศ. 1224 เลขที่ 14 หอสมุดแห่งชาติ)
พ.ศ.2407
พ.ศ. 2407 (ปีชวด ฉศก จ.ศ. 1226) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ราชบุตร (เลาคำ) เป็นราชวงศ์แทนราชวงศ์ (โถง) ที่ถึงแก่กรรม ให้ท้าวสุริยะ (สีนวน) เป็นราชบุตร เมืองนครพนม (จากเอกสาร ร.4 จ.ศ. 1226 เลขที่ 7 หอสมุดแห่งชาติ)
พ.ศ.2410
พ.ศ. 2410 (ปีเถาะ นพศก จ.ศ. 1229) พระพนมนครานุรักษาธิบดีฯ (จันโท) เจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรมเมื่อวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 (ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2410) หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมาได้ 12 ปี (เอกสาร ร.4 จ.ศ. 1229 เลขที่ 172 หอสมุดแห่งชาติ) พระพนมนครานุรักษาธิบดีมีบุตรธิดารวม 2 คน คือ นางเบ็ง และท้าวแท่ง
พ.ศ.2411
พ.ศ. 2411 เมื่อพระพนมนครานุรักษาธิบดี (จันโท) เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้วกรมการเมืองผู้ใหญ่ในเมืองนครพนม ได้พร้อมใจกันมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาลงไปกรุงเทพฯว่าขอรับพระราชทานให้ อุปฮาด (อรรคราช) เป็นเจ้าเมืองนครพนมแทนต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขึ้นมาว่าให้ อุปฮาด (อรรคราช) เป็นว่าที่เจ้าเมืองไปพลางก่อนเพราะว่ายังมิได้พระราชทานเพลิงศพเจ้าเมืองคนเก่าให้เรียบร้อย เสร็จและจึงให้อุปฮาดเดินทางลงไปกรุงเทพฯ เพื่อรับพระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องยศ (เอกสาร ร.4 จ.ศ. 1230 หอสมุดแห่งชาติ)
พ.ศ.2413
ครั้นถึง พ.ศ. 2413 (ปีมะเมีย โทศก จ.ศ. 1232) เมื่ออุปฮาด (อรรคราช) ว่าที่เจ้าเมืองนครพนมมาได้ 3 ปี จนอายุได้ 63 ปี แล้วจึงเดินทางไปเฝ้ากราบทูลละอองฯ ที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ อุปฮาด (อรรคราช) เป็นพระพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤายศทศบุรีศรีโคตรบูรณ์หลวง เจ้าเมืองนครพนมและพระราชทานเครื่องยศ คือ พานหมากถมตระทองกลม เครื่องในทองคำ แปดสิ่งสำรับหนึ่ง คณโททองคำหนึ่ง กระโถนถมหนึ่ง เสื้อทรงประพาสหนึ่ง ประคำทองหนึ่ง กระบี่บั้งทองหนึ่งสัปทนปัสตูหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วดีหนึ่ง แพรสีติดขลิบหนึ่ง ผ้าขาวห่มนอนหนึ่ง แพรขาวหนึ่ง ผ้าปูมเขมรหนึ่ง เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ และยังได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในเมืองนครพนมอีก ดังนี้ ให้ราชวงศ์ (เลาคำ) น้องเจ้าเมือง เป็นอุปฮาด ให้ราชบุตร (สีนวน) น้องเจ้าเมือง เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวจันทชมภู หลานเจ้าเมือง เป็นราชบุตร (จากเอกสาร ร.5 มท.เล่ม 3 พ.ศ. 1232 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2414
พ.ศ. 2414 (ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. 1233) หลังจากที่พระพนมนครานุรักษ์ฯ (อรรคราช) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนมมาได้เพียง 4 ปี อายุได้ 65 ปี ก็ถึงแก่กรรมเมื่อ วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2414 (จากเอกสาร ร.5 มท. เล่มที่ 5 จ.ศ. 1233 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2415
พ.ศ. 2415 (ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. 1234) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกรตั้งให้อุปฮาด (เลาคำ) เป็น พระพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤายศทศบุรีศรีโคตรบูรณ์หลวง เจ้าเมืองนครพนม และพระราชทานเครื่องยศบรรดาศักดิ์ คือ ถาดหมากทองคำ เครื่องในทองคำ สำหรับหนึ่ง คณโททองคำหนึ่ง กระโถนเงินถมหนึ่ง ลูกประคำทองคำ 108 เม็ดสายหนึ่ง กระบี่บั้งทอง 5 บั้งหนึ่ง สัปทนปัสตูแดงหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วดีหนึ่ง แพรขาวห่มเพลาะหนึ่ง ผ้าส่วนวิลาศห่มนอนผืนหนึ่ง ผ้าปูมเขมรผืนหนึ่ง ผ้าลายผืนหนึ่ง แพรสีติดขลิบผืนหนึ่งเป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมการเมือง ดังนี้
ราชวงศ์ (สีนวน) เป็นอุปฮาด
ราชบุตร (บุญมาก) เป็นราชวงศ์
ท้าววรบุตรภักดี (ทองคำ) เป็นราชบุตร (จากเอกสาร ร.5 มท. เล่ม 6 จ.ศ. 1234 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2417
พ.ศ. 2417 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ เป็นข้าหลวงใหญ่ขึ้นมาจัดราชการอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี เพื่อเร่งรัดเงินทองของส่วยของหัวเมืองลาวเขมรฝ่ายตะวันออก (ภาคอีสาน) และให้เมืองต่าง ๆ ในแถบแม่น้ำโขง อยู่ในบังคับบัญชาของข้าหลวงใหญ่ (จากเอกสาร ร. 5 มท. เล่ม 8 จ.ศ. 1236 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2418
ครั้นถึง พ.ศ. 2418 เนื่องจากมีพวกจีนฮ่อได้ยกมาตีเมืองเวียงจันทน์และหนองคายจึงให้พระยามหาอำมาตย์ ข้างหลวงใหญ่ซึ่งขึ้นมาจัดราชการอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานี เกณฑ์กองทัพหัวเมืองต่าง ๆ คือ เมืองร้อยเอ็ด 5,000 คน เมืองสุวรรณภูมิ 5,000 คน เมืองกาฬสินธุ์ 4,000 คน เมืองอุบลราชธานี 10,000 คน เมืองยโสธร 5,000 คน เมืองมุกดาหาร 4,000 คน เมืองนครพนม 4,000 คน ฯลฯ ไว้สมทบกองทัพใหญ่ ซึ่ง สมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ จะยกขึ้นมาจากกรุงเทพฯ และให้เมืองนครพนมเตรียมปลูก ฉางข้าวขึ้นไว้และจัดซื้อข้าวขึ้นฉางไว้สำหรับเลี้ยงกองทัพ อนึ่งยังให้เมืองต่าง ๆ เตรียมตัดไม้มาถากเพื่อขุดเรือไว้ ให้กว้างลำละ 4 วา 5 ศอก 6 คืบ คือ เมืองนครพนม 50 ลำ เมืองหนองคาย 50 ลำ เมืองโพนพิสัย 30 ลำ เมืองไชยบุรี 20 ลำ เมืองท่าอุเทน 15 ลำ เมืองมุกดาหาร 50 ลำ รวม 245 ลำ (จากเอกสาร ร. 5 มท. เล่ม 10 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2420
พ.ศ. 2420 อุปฮาด (สีนวน) ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ราชวงศ์ (บุญมาก) เป็นอุปฮาดราชบุตร (บุญจันทร์) เป็นราชวงศ์ (จากเอกสาร ร. 5 มท. เล่มที่ 12 จ.ศ. 1239 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2423
พ.ศ. 2423 พระพนมนครานุรักษ์ฯ (เลาคำ) เจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรม รวมเวลา ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอยู่ได้ 9 ปี ได้ถึงแก่กรรมในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423 (จากเอกสาร ร.5 มท. เล่มที่ 18 จ.ศ. 1243)
พ.ศ.2424
พ.ศ. 2424 หลังจากที่พระพนมนครานุรักษ์ฯ (เลาคำ) เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้วอุปฮาด (บุญมาก) ได้รักษาราชการบ้านเมืองและว่าที่เจ้าเมืองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2426 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกรตั้งให้อุปฮาด (บุญมาก) เป็น พระพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤายศทศบุรีศรีโคตรบูรณ์หลวง เจ้าเมืองนครพนม ถือศักดินา 5,200 ไร่ ตั้งแต่วันพุธ แรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม เบญจศก จ.ศ. 1245 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2426 (จากเอกสาร ร.5 เลขที่ 2728 มัดที่ 270 จ.ศ. 1245 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
อนึ่ง ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้เจ้าเมืองนครพนม คือ พานหมากดำเครื่องในทองคำพร้อมสำรับหนึ่ง คณโททองคำหนึ่ง กระโถนเงินถมหนึ่ง ลูกประคำทองคำสายหนึ่ง กระบี่บั้งทอง 5 บั้ง และให้เลื่อนเอาเครื่องยศเจ้าเมืองคนเก่าให้ เจ้าเมืองคนใหม่ คือ เสื้อเข้มขาบริ้วดีหนึ่ง ผ้าม่วงตีนหนึ่ง แพรสีทับทิมติดขลิบหนึ่ง สัปทนแพรหลินแดงหนึ่ง แพรขาวห่มเพลาะหนึ่ง (จากเอกสาร ร.5 มท.24 จ.ศ. 1245 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ดังนี้
ราชวงศ์ (บุญจันทร์) บุตรพระบรมราชา (มัง) เป็นอุปฮาด
ราชบุตร (ทองคำ) บุตรพระพนมนครานนุรักษ์ฯ (เลาคำ) เป็นราชวงศ์
ท้าวสีหบุตร (ทองทิพย์) บุตรพระพนมนครานุรักษ์ (บุญมาก) เป็นราชบุตร
(จากเอกสาร ร.5 จ.ศ. 1245 เลขที่ 2728 มัดที่ 270 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2428
พ.ศ. 2428 เนื่องจากองค์การศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้เริ่มส่งบาทหลวง เข้ามาเผยแพร่ในภาคอีสานเป็นครั้งแรก โดยคำสั่งของประมุขมิสซังราชหลุยเวย์จากกรุงเทพฯโดยส่งบาทหลวงอเล็กซิสโปรดม และบาทหลวงซาร์เวียร์เกโก้มายังเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2424 เป็นต้นมา และตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาคริสต์อยู่บ้านบุ่งกระแทวเป็นวัดแรก ครั้นถึง พ.ศ. 2426 ได้เผยแพร่และขยายขึ้นมาตามหัวเมืองในลำแม่น้ำโขง แล้วตั้งโบสถ์คาทอลิกที่ บ้านท่าแร่ริมน้ำหนองหารเมืองสกลนครในปี พ.ศ. 2427 ต่อมาในปี พ.ศ. 2428 ได้ตั้งโบสถ์ศาสนาคริสต์ที่บ้านสองคอน เขตเมืองมุกดาหาร ต่อมาบาทหลวงซาร์เวียร์เกโก้ (Xavia Guego) ได้ตั้งโบสถ์คาสนาคริสต์ที่เกาะดอนโด (เกาะกลางแม่น้ำโขงเยื้องเมืองนครพนม) และที่ บ้านหนองแสงเขตเมืองนครพนม สำหรับบาทหลวงซาร์เวียร์เกโก้ผู้นี้ได้ประจำอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงต่อมาถึง 20 กว่าปีจนพูดภาษาไทยและลาวได้คล่องแคล่ว ปรากฏว่าบรรดาทาสได้หลบหนีจากเจ้าขุนมูลนายไปหลบซ่อนอยู่กับบาทหลวง และนับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อกรมการเมืองจะเข้าไปสอบสวนว่ามีข้าทาสหลบหนีเจ้าขุนมูลนายหรือกรมการเมืองจะเข้าไปเกณฑ์แรงงาน หรือเก็บส่วยพวกที่เข้ารีตศาสนาคริสต์ จึงเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทบาดหมางระหว่างกรมการเมืองและบาทหลวงอยู่เนืองๆ จึงมีการฟ้องร้องกันลงไปที่กรุงเทพฯ หลายครั้งหลายหน จนพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ ) ข้าหลวงใหญ่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์และพระยาราชเสนา (ทัดไกรฤกษ์) ข้าหลวงที่เมืองอุบลราชธานีต้องส่งตระลาการมาตัดสินที่เมืองนครพนม (จากเอกสาร ร.5 ม.2 จ.ศ. 1249 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2429
พ.ศ. 2429 หลังจากที่ญวนหรือเวียดนามได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเวียดนามที่พ่ายแพ้แก่ฝรั่งเศสได้หลบหนีเข้ามาในชายแดนปลายพระราชอาณาเขต ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอันเป็นเขตแดนเมืองมุกดาหารและเมืองนครพนมต่อเนื่องกัน แขวงสุวรรณเขตและแขวงคำม่วน พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ออกมาว่าราชการอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ จึงย้ายกองบัญชาการมาตั้งอยู่ ณ เมืองเขมราฐชั่วคราวและแต่งตั้งให้หมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ชม สุนทรารชุน ) ซึ่งภายหลังเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์และหลวงเสนีย์พิทักษ์ (พร ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนมและเมืองมุกดาหาร เพื่อเกณฑ์กำลังเมืองสกลนครเมืองท่าอุเทนเมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร ออกไปลาดตระเวนรักษาด่าน ขับไล่พวกเวียดนามมิให้ล่วงล้ำเข้ามา ในชายแดนปลายพระราชอาณาเขต (เอกสาร ร.5 12 ก. เล่มที่ 12 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2431
พ.ศ. 2431 พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงใหญ่ และพระยาราชเสนา ข้าหลวงประจำ หัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งให้องค์บิ้งญวนเป็น หลวงจำนงค์บริรักษ์ เป็นนายกองญวน และนายหวาเป็น ขุนพิทักษ์โยธี ปลัดกองญวน ซึ่งตั้งอยู่บ้านโพนบก และบ้านนาคูแขวงเมืองนครพนม (จากเอกสาร ร. 5 12ก/ 40 เล่ม 20 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พ.ศ.2432
ครั้นถึง พ.ศ. 2432ราชวงศ์ (ทองคำ) ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 และต่อมาอุปฮาด (บุญจันทร์) ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 ตรงกับวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 (จากเอกสาร ร.5 ม.2 12 ก. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) ต่อมาอีกพระพนมนครานุรักษ์ฯ (บุญมาก) เจ้าเมืองนครพนมได้ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2432 (ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2432) พระพนมนครานุรักษ์ฯ (บุญมาก) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนมอยู่ได้ 8 ปี มีภรรยาชื่อนางหมาเฮือน มีบุตรธิดารวม 7 คน คือ นางจันทลี นางอมราวดี นางพรหมาวดี พระพนมนครานุรักษ์ฯ (ทองทิพย์) พระศรีวรวงศ์ (แสง) และพระพนมนครานุรักษ์ (ยศวิชัย)
เมื่อพระพนมนครานุรักษ์ฯ (บุญมาก) เจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรมนั้น อุปฮาด (บุญจันทร์) และราชวงศ์ (ทองคำ) ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ราชบุตร (ทองทิพย์) ผู้เป็นบุตรพระพนมครนุรักษ์ฯเจ้าเมืองได้เป็นผู้รักษาราชการแทนต่อมาในตำแหน่งว่าที่เจ้าเมืองนครพนมและว่าที่พระยาพนมครานุรักษ์ฯ เพราะว่ายังมิได้เดินทางลงไปรับพระราชทานสัญญาบัตรและได้แต่งตั้งกรมการเมือง ดังนี้
ท้าวศรีวิชัย บุตรพระพนมนครานุรักษ์ฯ (บุญมาก) ว่าที่อุปฮาด
ท้าวราชกิจภักดี (กา) ผู้ช่วยราชการ บุตรพระราชกิจภักดี (พิมพา) อดีตผู้ช่วยราชการเป็นว่าที่ราชวงศ์
ท้าวสุริยะ (โก๊ะ) ว่าที่ราชบุตร
พ.ศ.2434
พ.ศ. 2434 ว่าที่เจ้าเมืองนครพนมได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระครูจูมโสภโณวัดมหาธาตุ เมืองนครพนมเป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองนครพนม พระครูหอม วัดมหาธาตุ เมืองนครพนม เป็นรองเจ้าคณะใหญ่และพระครูคำ วัดพระติ้ว (วัดโอกาส) เป็น พระอุปัชฌาย์ แต่พระภิกษุทั้ง 3 องค์ชราภาพมากแล้ว จะเดินทางไปรับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศด้วยตัวเองไม่ได้ (จากเอกสาร ร.5 ม.2 12 ก. รศ. 110 หอจดหมายแห่งชาติ)
ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระดำริเห็นว่าฝรั่งเศสได้ดินแดนเวียดนามและเขมรแล้วต่อไปก็คงรุกล้ำเข้ามาทางชายแดนปลาย พระราชอาณาเขต ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการในหัวเมืองภาคอีสานทางด้านอีสานเหนือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการ หัวเมืองลาวพวนประทับอยู่ ณ เมืองหนองคาย ทางด้านอีสานใต้มี พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาวประทับอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานี
กองบัญชาการหัวเมืองลาวพวนที่เมืองหนองคาย มีอำนาจปกครองเมืองนครพนมหนองคาย มุกดาหาร ไชยบุรี ท่าอุเทน หล่มศักดิ์ หนองหาร สกลนคร โพนพิสัย กมุทาสัย (หนองบัวลำภู) ขอนแก่น เชียงขวาง คำเกิด คำม่วน บริคัณฑนิคม (สี่เมืองหลังนี้ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)
พ.ศ.2436
พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) ราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง(ดินแดนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ให้แก่ฝรั่งเศส ดินแดนของ เมืองนครพนมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (แขวงคำม่วน) ต้องสูญเสียไปด้วย ข้าหลวงไทยที่ประจำยู่ที่เมืองคำม่วนคือ พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพชร) ได้ต่อสู้ขัดขวางฝรั่งเศสจนวาระสุดท้าย จึงถือว่าท่านเป็นวีรบุรุษคนสำคัญ จึงได้เอานามของท่านตั้งเป็นชื่อค่ายทหารในจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นอนุสรณ์คือ ค่ายพระยอดเมืองขวาง
พ.ศ.2437
พ.ศ. 2437 ฝรั่งเศสขอตั้งเอเย่นต์ทางการค้า (Commercial Agent) ให้มาประจำอยู่ตามหัวเมืองริมฝั่งโขงคือเมืองเขมราฐ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรีและเมืองหนองคาย แต่พฤติการณ์ของเอเย่นต์ทำหน้าที่เสมือนกงสุลหรือสายลับคอยจ้องจับผิดและสังเกตการณ์ว่าฝ่ายไทยละเมิดในสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหรือไม่ เช่น ห้ามไม่ให้ฝ่ายไทยตั้งกองทหารในเขต 25 กม. จากฝั่งแม่น้ำโขง และบางโอกาสก็คอยชักจูงให้คนไทยอีสานไปรับราชการ หรือไปตั้งบ้านเรือนในแดนลาว เอเย่นต์ทางการค้าคนแรกของฝรั่งเศสที่มาประจำอยู่ที่เมืองนครพนม คือ มองสิเออร์ มองเปราต์ (MonPeyrat) มาประจำอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 (จากเอกสารประวัติศาสตร์ไทย ร.ศ. 112 ของ ม.ล. มานิจ ชุมสาย)
พ.ศ.2440
พ.ศ. 2440 มีผู้ฟ้องกล่าวโทษว่า ว่าที่พระยาพนมนครนุรักษ์ฯ (ทองทิพย์) ว่าที่เจ้าเมืองนครพนมได้ติดต่อกับเอเย่นต์ทางการค้าของฝรั่งเศสอยู่เนืองๆ เป็นที่หวาดระแวง และเป็นที่ไม่ไว้วางใจของทางราชการจนในที่สุดพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน (อุดร) ซึ่งประทับที่บ้านหมากแข้ง (อุดรธานี) มีพระกระแสรับสั่งให้ไปเข้าเฝ้า แต่ว่าที่พระยาพนมนครานุรักษ์ฯ ไม่ยอมไปเฝ้าจึงมีพระบัญชาให้ พระยาพิชัยสรเดช (คำสิงห์ สิงหสิริ) เจ้าเมืองโพนพิสัย เดินทางมาเพื่อควบคุมตัวให้ขึ้นไปเฝ้าที่กองบัญชาการมณฑลลาวพวน แต่ว่าที่พระยาพนมนครนุรักษ์ฯ รู้ข่าวเสียก่อนจึงอพยพข้ามโขงหลบหนีไปอยู่กับฝรั่งเศสที่เมืองท่าแขก พร้อมด้วยผู้ติดตามซึ่งเป็นชาวนครพนมอีก 72 คน
นอกจากนั้นยังได้นำเอาเครื่องยศของเจ้าเมืองนครพนมคนเก่าซึ่งเป็นบิดาคือพระพนมนครานุรักษ์ฯ(บุญมาก) ที่ได้รับพระราชทานไว้ เช่น พานหมากทองคำ คณโททองคำ ลูกประคำทองคำ กระบี่บั้งทองติดตัวไปด้วย ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2440
ต่อมาฝรั่งเศสได้ให้อดีตเจ้าเมืองนครพนมผู้นี้รับราชการกับฝรั่งเศส และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองท่าแขกซึ่งตั้งอยู่ฟากตรงข้ามกับเมืองนครพนม เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมข้าหลวงต่างพระองค์ฯ จึงขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่งตั้งให้ อุปฮาด (ศรีวิชัย) ผู้เป็นน้องชายของเจ้าเมืองเป็นว่าที่
เจ้าเมืองนครพนมแทน ต่อมาทางราชการได้ติดต่อกับฝ่ายฝรั่งเศสขอให้อดีตเจ้าเมืองนครพนม (ทองทิพย์) ส่งเครื่องยศเจ้าเมืองนครพนมคืน จนในที่สุด คอมมิแชร์ (ข้าหลวง) ฝรั่งเศสประจำ เมืองคำม่วนได้เป็นผู้นำเอาเครื่องยศของเจ้าเมืองนครพนมมามอบคืนให้ข้าหลวงประจำ เมืองนครพนมใน พ.ศ. 2446 (จากเอกสาร ร.5 กต. 40 29/22 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
เมื่อว่าที่พระยาพนมนครานุรักษ์ (ทองทิพย์) เจ้าเมืองอพยพหลบหนีไปอยู่กับ ฝรั่งเศสแล้วพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาลงไปกรุงเทพฯ ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่งตั้งให้ อุปฮาด (ศรีวิชัย) ผู้เป็นน้องเจ้าเมืองเป็นพระยาพนมนครานุรักษ์ มหา สวามิภักดิ์นคราธิบดี และแต่งตั้งกรมการเมือง ดังนี้
ราชวงศ์ (กา) ดำรงตำแหน่ง อุปฮาด
ราชบุตร (โก๊ะ) ดำรงตำแหน่ง ราชวงศ์
ท้าวภูมิ บุตรเจ้าเมือง (ศรีวิชัย) ดำรงตำแหน่ง ราชบุตร
พ.ศ.2442
พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จึงมี พระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนา (ม.จ.วัฒนา รองทรง) ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลลาวพวนแทน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ และเปลี่ยนนามมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดรใน พ.ศ. 2443 เมืองนครพนมจึงอยู่ในเขตการปกครองและการบังคับบัญชาของมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลอุดร
สำหรับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนา ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลฝ่ายเหนือหรือต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร มีชายา (ภรรยา) เป็นชาวนครพนมชื่อ หม่อมบัว หม่อมบัวเป็นหลานสาวพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองนครพนมในลำดับต่อมาหม่อมบัวมีบุตรธิดาคือม.ร.ว.พิศม์ และ ม.ร.ว.วลี ม.ร.ว.วลี คือมารดาของ ท่านพลอากาศเอก ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่
พระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (ศรีวิชัย) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนม อยู่ได้เพียงปีเศษก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2442 (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ.118) มีภรรยาชื่อนางคำปาน มีบุตรธิดารวม 4 คน คือ นางคำมณีจันทร์ นางจันทลี นางพรหมาวดี นางอมราวดี นางทีตา มีเรื่องเล่าและเชื่อกันในยุคนั้นว่า เจ้าเมืองถึงแก่กรรมเพราะถูกกระทำทางไสยศาสตร์ (บังฟัน) จนถึงแก่กรรมเพราะตามร่างกายมีรอยไหม้เหมือนถูกฟันเฉลียงบ่า
เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ได้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง ร.ศ.117 ขึ้นและได้ประกาศให้เปลี่ยนนามมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมณฑลอีสาน(อุบลราชธานี) มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลพายัพ (เชียงใหม่) มณฑลลาวกลาง เป็นมณฑลนครราชสีมา ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2443 (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 119)
มณฑลอุดรแบ่งการปกครองเป็น 12 เมือง (ยังไม่มีจังหวัด) คือ เมืองหนองคาย (เมืองเอก) เมืองท่าอุเทน (เมืองจัตวา) เมืองไชยบุรี (เมืองจัตวา) เมืองนครพนม (เมืองตรี) เมืองท่าบ่อ (เมืองตรี) เมืองมุกดาหาร (เมืองตรี) เมืองสกลนคร (เมืองโท) เมืองขอนแก่น (เมืองตรี) เมืองกมุทาสัย (หนองบัวลำภู) เมืองโพนพิสัย (เมืองตรี) เมืองชนบท (เมืองจัตวา) เมืองหนองหาร (เมืองตรี)
กระทรวงมหาดไทยปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคให้เหมือนกันหมด ทั่วราชอาณาจักรและให้ยกเลิกการปกครองแบบโบราณของเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสานซึ่งปกครองแบบมีเจ้าเมืองอุปฮาดราชวงศ์และราชบุตร ทั้งหมดให้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมืองเป็นกรมการเมืองให้เหมือนกันหมดทั่วราชอาณาจักร เจ้าเมืองหรือกรมการเมืองใดที่ยังไม่ชราภาพก็แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่เป็นผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมืองแทน และได้รับพระราชทานเงินเดือนกันเป็นครั้งแรก แต่ได้เพิ่มตำแหน่งข้าหลวงออกมาประจำเมือง เพื่อเป็นตัวแทนของราชการส่วนกลาง และให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมือง
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ อุปฮาด (กา) เป็น
พระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤายศทศบุรีศรีโคตรบูรณ์หลวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครพนม ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ถือศักดินา 3,000 ไร่ ท่านเป็นบุตรพระราชกิจภักดี (พิมพา) อันเป็นต้นตระกูล พิมพานนท์ และได้ตั้งกรมการเมือง ดังนี้
ราชวงศ์ (โก๊ะ) เป็น พระพิทักษ์พนมนคร (โก๊ะ มังคละคีรี) ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองนครพนม ถือศักดินา 600 ไร่
ราชบุตร (ภูมิ) เป็น พระสุราภรณ์พนมกิจ (ภูมิ พรหมประกาย) ดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืองนครพนม ถือศักดินา 500 ไร่
พระศรีสกุลวงศ์ (ทองคำ) เป็นพระพินิจพนมการ (ทองคำ มังคละคีรี) ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองนครพนม ถือศักดินา 400 ไร่ (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ.119)
พ.ศ.2443 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระพิสัยอุดรกิจ (จาบ สุวรรณทัต) เป็นข้าหลวงประจำเมืองนครพนมจนถึง พ.ศ.2446 จึงย้ายไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี) เมื่อท่านดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลนครราชสีมา ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ ซึ่งท่านเป็นบิดาของ คุณไถง สุวรรณทัต อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2446
พ.ศ.2446 มณฑลอุดรได้ปรับปรุงแบ่งการปกครองออกเป็น 5 บริเวณ ๆ แบ่งออกเป็นเมือง ๆ แบ่งออกเป็นอำเภออีก และยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเป็นตำบล แต่บริเวณมีข้าหลวงประจำบริเวณรับผิดชอบและมีข้าหลวงประจำเมืองพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมืองอีกคือ
บริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี) มี 6 เมือง เมืองหนองคาย เมืองโพนพิสัย เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาสัย (หนองบัวลำภู) เมืองท่าบ่อ
บริเวณสกลนคร มี 6 เมือง คือ เมืองสกลนคร เมืองวาริชภูมิ เมืองพรรณานิคม เมืองสว่างแดนดิน เมืองวานรนิวาส เมืองจำปาชนบท (พังโคน)
บริเวณพาชี (ขอนแก่น) มี 3 เมือง คือ เมืองขอนแก่น เมืองภูเวียง เมืองชนบท
เมืองน้ำเหือง (เมืองเลย) มี 3 เมือง เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน
บริเวณธาตุพนม ที่ตั้งการบริเวณที่เมืองนครพนมมี พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนม ตั้งแต่ พ.ศ. 2446 ถึง พ.ศ. 2449 แบ่งการปกครองออกเป็น 4 เมือง และ 11 อำเภอ คือ
เมืองนครพนม มี พระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพ์พานนท์) เป็น ผู้ว่าราชการเมืองแบ่งออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภออาษามารถ (ปัจจุบันยุบเป็นตำบลอาจสามารถ) อำเภออากาศอำนวย อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอโพธิไพศาล (ปัจจุบันยุบเป็นตำบล) สามอำเภอหลังนี้ต่อมาได้โอนไปขึ้นจังหวัดสกลนคร
เมืองท่าอุเทน มี ขุนพิทักษ์ธุรกิจ (จ๋วน สกุลเวช) เป็นข้าหลวงประจำเมือง (พ.ศ. 2444 ถึง พ.ศ. 2447) ต่อมา ขุนศุภกิจจำนงค์ (จันทิมา พลเดชา) เป็นข้าหลวงประจำเมือง (พ.ศ. 2448 ถึง พ.ศ. 2450) และมี พระศรีวรราช (บุญมาก กิตติศรีวรพันธุ์) เป็น ผู้ว่าราชการเมืองท่าอุเทนแบ่งการปกครองออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองท่าอุเทนและ อำเภอรามราช (ปัจจุบันยุบลงเป็นตำบล)
เมืองไชยบุรี มี หลวงสุนทรนุรักษ์ (ถนอม) เป็นข้าหลวงประจำเมือง และพระไชยราชวงศา (ปาน) ต้นสกุล เสนจันทฒิไชย เป็นผู้ว่าราชการเมือง มีอำเภอเดียว
เมืองมุกดาหาร มีพระอนุชาติวุฒาธิคุณ (แพ ณ หนองคาย) เป็นข้าหลวงประจำเมืองพระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) เป็นจางวางกำกับราชการและ พระจันทร์เทพสุริยวงศา (แสง จันทรสาขา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร และ อำเภอหนองสูง ส่วนเมืองพาลุกากรภูมิยุบลงเป็นหมู่บ้าน เพราะผู้คนอพยพข้ามฟากไปอยู่เมืองสุวรรณเขตฝั่งลาวเสียเป็นส่วนมาก
พ.ศ.2447
พ.ศ. 2447 พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนม ได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในเมืองนครพนมเป็นโรงเรียนแรก โดยได้รวบรวมเงินบริจาคจากบรรดาข้าราชการพ่อค้าประชาชนร่วมกันบริจาคและร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนวัดกลางเมืองนครพนม มีชื่อว่า โรงเรียนวัดกลางเมืองนครพนม (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 123) โรงเรียนวัดกลาง เมืองนครพนม ได้ขยายกิจการต่อมาจนกลายเป็นโรงเรียนสุนทรวิจิตร และขยายเป็นโรงเรียน ปิยะมหาราชาลัยอันเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
พ.ศ.2449
พ.ศ. 2449 สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุดร เสด็จถึงเมืองนครพนม เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2449 ประทับอยู่ที่เมืองนครพนม 2 วัน ได้สร้างระฆังถวายองค์พระธาตุพนม 2 ลูก แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองสกลนคร พระธาตุพนมและล่องเรือต่อไปยังเมืองมุกดาหาร และเมืองอื่น ๆ อีก
อนึ่งในปีนี้พระยาสุนทรเทพกิจจานุรักษ์ ข้าหลวงประจำเมืองนครพนมได้อาราธนาพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย พระชาวเมืองนครพนม ซึ่งไปศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีให้มาจัดตั้งวัดธรรมยุติขึ้นเป็นวัดแรกในเมืองนครพนม คือ วัดศรีคูณเมือง ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดศรีเทพประดิษฐาราม พระอาจารย์จันทร์ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสารภาณมุนี และครั้งสุดท้ายเป็น พระเทพสิทธาจารย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย
พ.ศ.2450
พ.ศ. 2450 ภายหลังจากที่เสด็จในกรมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จตรวจหัวเมืองในภาคอีสานแล้ว จึงได้มีการปรับปรุงการปกครองในหัวเมืองต่าง ๆ อีกครั้ง คือ ให้มีมณฑล เมือง และอำเภอ เท่านั้น ให้ยุบเลิกบริเวณลงเป็นเมืองทั้งหมด (ยังไม่มีจังหวัด) ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม ร.ศ. 126) ฉะนั้นการปกครอง มณฑลอุดร จึงแบ่งเป็นเมือง ดังนี้
บริเวณหมากแข้ง เปลี่ยนเป็น เมืองอุดรธานี
บริเวณพาชี เปลี่ยนเป็น เมืองขอนแก่น
บริเวณสกลนคร เปลี่ยนเป็น เมืองสกลนคร
บริเวณน้ำเหือง เปลี่ยนเป็น เมืองเลย
บริเวณธาตุพนม เปลี่ยนเป็น เมืองนครพนม (ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 126) เมืองมุกดาหาร เมืองท่าอุเทน และเมืองไชยบุรี ลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองนครพนม เมืองนครพนม จึงประกอบด้วย 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเมืองไชยบุรี อำเภอเมืองท่าอุเทน อำเภอเมืองอากาศอำนวย อำเภอเมืองกุสุมาลย์ อำเภอเมืองเรณูนคร (ย้ายไปตั้งอยู่บ้านธาตุพนม) อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอเมืองหนองสูง อำเภอต่าง ๆ คงใช้คำว่าอำเภอเมือง อยู่เป็นเมืองอนุสรณ์ว่าเคยเป็นเมืองมาก่อน
อนึ่งในปีนี้ (พ.ศ. 2480) เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมืองตลอดทั้งกรมการเมือง เก่า ๆ ซึ่งมีอายุมากแล้วได้ลาออกจากราชการเป็นส่วนมาก เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่ส่งออกมารับราชการจากส่วนกลางออกมารับราชการในหัวเมือง (ส่วนภูมิภาค) แทน เช่น พระยาพนมนครานุรักษ์ฯ ผู้ว่าราชการเมืองนครพนม และพระพินิจพนมการ ผู้ช่วยราชการ เมืองนครพนมได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากชราภาพและทุพพลภาพ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 กรกฎาคม ร.ศ. 126 (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 126)
ต่อมาพระพิทักษ์พนมนคร (โก๊ะ มังคละคีรี) ปลัดเมืองนครพนมได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากชราภาพและทุพพลภาพ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ร.ศ. 126 (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 126)
พระยาพนมนครานุรักษ์ (กา พิมพานนท์) มีบุตรธิดารวม 4 คน คือ นายถุน นายโถ นายโอ และนางโมรา หลังจากกราบถวายบังคมลาออกจากราชการและได้รับพระราชทานบำนาญต่อมาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2453 (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 129)
พ.ศ. 2450 เมื่อพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์) ผู้ว่าราชการ เมืองนครพนม ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ซึ่ง ดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนม และข้าหลวงประจำเมืองนครพนม อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2446 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครพนม ประกอบด้วยกรมการเมือง ดังนี้
ผู้ว่าราชการเมือง พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์)
ปลัดเมือง หลวงพิทักษ์นครพนม (ช่วง สุวรรณทรรภ)
ต่อมาเมื่อท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอุดรธานี เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุดรศรีโขมสาครเขตร์
ยกกระบัตรเมือง พระราชกิจภักดี (ดวงเกษ ศรียวงศ์) นายกระจ่าง
ผู้ช่วยราชการคลัง หลวงหิรัญรักษา (หมอก พรหมสาขา ณ สกลนคร)
ผู้ช่วยราชการสรรพากร ขุนอภัยพิทักษ์ (ชุ่ม)
ศุภมาตรา พระประดิษฐานานนท์ (หอม มังคละคีรี)
ผู้พิพากษา ขุนผลาญณรงค์ (ทุ้ย ศาสตราศรัย)
กรมการพิเศษ พระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์)
พระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา)
พระพิทักษ์พนมนคร (โก๊ะ มังคละคีรี)
พระพินิจพนมการ (ทองคำ มังคละคีรี)
พระศรีวรราช (บุญมาก กิตติศรีวรพันธุ์)
หลวงชำนาญอุเทนดิษฐ์ (หด กิตติศรีวรพันธุ์)
หลวงพิทักษ์ประชาชน (ตูม)
หลวงสรรพกิจบริหาร (คำวัง)
พระพินิจพจนานุกร (ท่อนแก้ว)
พ.ศ.2454
พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ พระจูม วัดมหาธาตุ เมืองนครพนม เป็น พระครูพนมคณาจารย์ ที่สังฆปาโมกข์เจ้าคณะใหญ่เมืองนครพนม พระราชทานพัดพุ่มข้าวบิณฑ์พื้นเยียรบับ อนึ่งในปีนี้ได้จัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นเป็นโรงเรียนแรกในเมืองนครพนม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2454 มีนักเรียนรุ่นแรก 20 คน โดยมีนางสาวจำปาอ่อน เป็นครูสตรีคนแรก (จากราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 130)
พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครพนมอยู่จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2454 จึงได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลเพชรบูรณ์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพชรรัตนราชสงคราม
พ.ศ.2455
พ.ศ. 2455 พระวิจิตรคุณสาร (อุ้ย นาครทรรภ) นายอำเภอเมืองหนองคาย ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครพนม ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพนมนครานุรักษ์ อนึ่งในปีนี้ฝรั่งเศสได้ย้ายที่ทำการแขวง (จังหวัด) คำม่วนซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองหินบูรณ์ตรงข้ามกับอำเภอท่าอุเทนมาตั้งอยู่ที่เมืองท่าแขกตรงข้ามกับเมืองนครพนม โดยมีข้าหลวงฝรั่งเศสหรือ คอมมิแชร์ (Commisaire) มาประจำอยู่ที่เมืองท่าแขก (จากบันทึกของหลวงอภิบาลวรเดชอดีตนายอำเภอท่าอุเทนและอดีตปลัดจังหวัดนครพนม)
พ.ศ.2457
พ.ศ. 2457 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2457 ให้ยุบอำเภอเมืองกุสุมาลย์มณฑลไปรวมกับอำเภอเมืองนครพนม (ภายหลังโอนไปขึ้นกับจังหวัดสกลนคร) และได้ยุบอำเภอเมืองอากาศอำนวยไปรวมกับท้องที่อำเภอท่าอุเทน (ภายหลังโอนไปขึ้นกับจังหวัดสกลนคร) ให้ตัดท้องที่บางส่วนของอำเภอโพนพิสัยของเมืองหนองคายมารวมกับท้องที่อำเภอไชยบุรีแล้วย้ายที่ตั้งอำเภอไชยบุรีไปตั้งที่บ้านบึงกาฬ แต่ยังขึ้นกับเมืองนครพนมภายหลังจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอไชยบุรีเป็นอำเภอบึงกาฬแล้วโอนไปขึ้นจังหวัดหนองคายในปี พ.ศ. 2460 (จากราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2457) เมืองไชยบุรี หรืออำเภอไชยบุรีในอดีตจึงมีฐานะเป็นเพียงตำบลจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2457 ประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2459 เปลี่ยนคำว่าเมือง เป็น จังหวัด ให้เหมือนกันหมดทั่วราชอาณาจักร เมืองนครพนม จึงเปลี่ยนเป็น จังหวัดนครพนมและคำว่าผู้ว่าราชการเมืองก็เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด(จากราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2459)
พ.ศ.2460
พ.ศ. 2460 ประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2460 ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดนครพนม คืออำเภอเมืองนครพนม เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหนองบึก อำเภอเมืองเรณูนคร เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอธาตุพนม โดยย้ายที่ตั้งไปตั้งที่บ้านธาตุพนม อำเภอหนองสูง ย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่บ้านนาแกเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอนาแก (จากราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2460)
พ.ศ.2465
พ.ศ. 2465 ประกาศให้รวมเอา มณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล มณฑลอุดร ตั้งขึ้นเป็นภาคอีสาน คำว่าภาคอีสาน จึงเกิดขึ้นในปีนี้วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465 โดยมีอุปราชมาประจำอยู่ที่ภาคอีสาน มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองอุดรธานี อุปราชภาคอีสานคือพระยาราชนิกูล วิบูลยภักดี อุปราชขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ นอกจากภาคอีสานแล้วยังมีภาคพายัพ (เหนือ) ภาคทักษิณ (ใต้) จังหวัดนครพนมจึงขึ้นอยู่กับมณฑลอุดรและภาคอีสาน
พ.ศ.2468
พ.ศ. 2468 พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรภ) ย้ายไปดำรงตำแหน่ง สมุศเทศาบาลมณฑลอุดร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุดลยเดชสยาเมศวรภักดี พิริยพาหะ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนมต่อมาคือ
พระยาสมุทรศักดารักษ์ (เจิน วิเศษรัตน์) พ.ศ. 2469 ถึง พ.ศ. 2472
พระพนมนครานุรักษ์ (ฮกไก่ พิศาลบุตร) พ.ศ. 2472 ถึง พ.ศ. 2478
พระประสงค์เกษมราษฎร์ (ชุ่ม สุวรรณคุปต์) พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2483
พ.ต.ขุนทยานราญรอญ (วัชร วัชรบูลย์) พ.ศ. 2483 ถึง พ.ศ. 2484
นายสุข ฉายาชวลิต พ.ศ. 2484 ถึง พ.ศ. 2485
หลวงปริวรรตวรจิตร (จันทร์ เจริญชัย) พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2486
นายถวิล สุนทรสารทูล พ.ศ. 2486 ถึง พ.ศ. 2490
นายพรหม สูตรสุคนธ์ พ.ศ. 2490 ถึง พ.ศ. 2490
ขุนคำนวณวิจิตร (เชย บุญนาค) พ.ศ. 2490 ถึง พ.ศ. 2495
นายชำนาญ ยุวบูรณ์ พ.ศ. 2495 ถึง พ.ศ. 2495
นายพินิจ โพธิ์พันธ์ พ.ศ. 2495 ถึง พ.ศ. 2496
นายฉลอง รมิตานนท์ พ.ศ. 2496 ถึง พ.ศ. 2500
นายสวัสดิ์วงษ์ ปฏิทัศน์ พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2501
นายสง่า จันทรสาขา พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2508
นายสวัสดิ์ มีเพียร พ.ศ. 2508 ถึง พ.ศ. 2510
นายจรัส สิทธิพงษ์ พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2513
พลตรียง ณ นคร พ.ศ. 2513 ถึง พ.ศ. 2515
นายสุนันท์ ขันอาษา พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2516
นายวิเชียร เวชสวรรค์ พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2518
นายพิศาล มูลศาสตร์สาธร พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2520
นายสมพร กลิ่นพงษ์ พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2523
นายสมพร ธนะสถิตย์ พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2524
นายวิโรจน์ อำมรัตน์ พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2527
นายอุทัย นาคปรีชา พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2531
นายมังกร กองสุวรรณ พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2533
พ.ต.ปรีดา นิสสัยเจริญ พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2536
นายสุจริต ปัจฉิมนันท์ พ.ศ. 2536 ถึง พ.ศ. 2537
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2540
นายนาวิน ขันธหิรัญ พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2541
นายศักดิ์ เกียรติก้อง พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2543
นายธงชัย อนันตกูล พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2544
นายวิทย์ ลิมานนท์วราไชย พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2546
นายนิคม เกิดขันหมาก พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2549
นายบุญสนอง บุญมี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2552
นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2553
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2554
นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย พ.ศ. 2554 ถึง ปัจจุบัน

ที่มา : http://www.nakhonphanom.go.th

แสดงความเห็น

comments