นครพนม – หนุ่มพิการชาวนาหว้าเผยชีวิตรันทดซุกหัวนอนในบ้านเก่าใกล้พัง อาศัยเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาทประทังชีวิตยังโชคร้ายซ้ำถูกอมเงินช่วยเหลือ ด้านผู้ใหญ่บ้านแนะศูนย์คนไร้ที่พึ่งต้องสำรวจข้อมูลคนจนในหมู่บ้านให้ทั่วแล้วค่อยจัดสรรเงินช่วยตามความเหมาะสม คนจนจริงๆมักไม่ได้ ส่วนคนที่ได้ก็ได้ไม่ครบ
ภายหลัง คณะตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม ของ ป.ป.ท. พบว่า พื้นที่ จ.นครพนม มีชาวบ้านผู้เสียหาย จำนวน 564 ราย ในพื้นที่ 12 อำเภอ มากสุดคือ อ.นาหว้า มากถึง 270 ราย รองลงมาคือ อ.นาทม จำนวน 140 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหา เจ้าหน้าที่มีการนำเอกสารไปเบิกจ่ายจริง แต่นำเงินมาจ่ายไม่ครบ โดยตามระเบียบสามารถช่วยเหลือได้ ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ ไม่เกิน 3,000 บาท แต่บางรายได้เงินเพียง รายละ 1,000 – 2,000 บาท ต่อ ปี บางรายได้ประมาณ 200 -300 บาท และมีบางรายไม่ได้รับเลย
ซึ่งในปี 2560 ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม ได้เบิกจ่ายเงินไปทั้งสิ้น 1.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ทาง ปปท. จะได้ใช้อำนาจทางกฎหมาย เอาผิดกับ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนมเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามปัญหา หลังมีชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ให้ข้อมูลว่า มีชาวบ้านหลายราย ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ฐานะยากจน เป็นผู้พิการ ที่ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ หลายรายได้รับเงินไม่ครบ จึงได้ไปสอบทางข้อเท็จจริง จาก นายสีบาล โกษาแสง อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านอูนยางคำ หมู่ 11 ต.นาหว้า อ.นาหว้า
นายสีบาล โกษาแสง อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านอูนยางคำ หมู่ 11 ต.นาหว้า เล่าถึงขั้นตอนการมาช่วยเหลือลูกบ้าน ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนมว่า มีการประสานผ่านผู้นำท้องถิ่น อยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกการช่วยเหลือแบบกลุ่ม คือ กรณีมีการตั้งกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ ในหมู่บ้านตน มีอยู่ 3 กลุ่ม ได้รับเงินเมื่อปี 2560 กลุ่มละ ประมาณ 10,000 – 15,000 บาท แต่ไม่ทราบหลักเกณฑ์การพิจารณาช่วยเหลือ เมื่อนำมาให้ ชาวบ้านก็ดีใจไม่ว่าจำนวนมากหรือน้อย
กลุ่มที่สองคือการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล รายละประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ต่อปี ในส่วนที่เดือดร้อน พิการ หรือยากจน เช่นเดียวกันกับ นางจันทิพย์ อุปชัย อายุ 42 ปี ผู้พิการและยากจน ตรวจสอบแล้ว เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท
แต่ภายหลังจากการสอบถามชาวบ้าน หลัง เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบ จึงรู้ว่า มีการนำเอกสารชาวบ้านไปเบิกจ่ายเงิน รายละ 5,000 บาท แต่ชาวบ้านกลับได้แค่บางส่วน
นายสีบาลบอกว่า อยากฝากไปยังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบช่วยเหลือคนยากจน อยากให้มีมาตรฐาน ในการตรวจสอบคุณสมบัติ หรือควรลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ตามความเป็นจริง เพราะจะช่วยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ได้รับการช่วยเหลือทั่วถึง
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมีปัญหาคือ คนควรที่จะได้รับช่วยเหลือกลับไม่ได้ แต่คนที่เขาไม่เดือดร้อน สามารถพึ่งพาตัวเองได้กลับได้เงิน และควรให้เงินช่วยเหลือให้เหมาะสมตามสภาพ ไม่ใช่ช่วยเหลือจำนวนเงินเท่ากันหมด คือคนที่ยากจน เดือดร้อนจริงๆก็ได้เท่ากับคนที่มีฐานะปานกลาง”นายสีบาลกล่าว
ขณะที่ นายดำรง ประกิ่ง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 125/3 หมู่ 11 บ้านอูนยางคำ ต.นาหว้า ซึ่งเป็นผู้พิการแขนขาลีบมาแต่กำเนิด แถมยากจน อาศัยอยู่เพียงลำพัง เพราะญาติพี่น้องต้องดิ้นรนไปรับจ้างทำงานต่างจังหวัด ส่งเงินมาช่วยเหลือตามสภาพ อีกทั้งนางดำรงยังต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่เก่าทรุดโทรม รถเข็นที่ใช้อยู่ ทาง อบต.นำมาช่วยเหลือ ใช้งานมาหลายปีผุพังมากแล้ว แต่ก็ต้องทนใช้งาน เพราะไม่มีหน่วยงานมาดูแล
นายดำรงเล่าว่า ทุกวันนี้ตนมีรายได้จากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา สอบถามญาติ พบว่า มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารไปสำรวจ และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม นำเงินมาช่วยเหลือแค่ 1,000 บาท ส่วนได้ครบไม่ครบตามระเบียบนั้นตนไม่ทราบ ถ้าได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่านี้ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง ตนอยากได้รถเข็นใหม่ ที่ใช้อยู่ตอนนี้มันเก่ามากแล้ว
สำหรับปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของทางการจะจัดการแก้ไข สิ่งสำคัญคืออยากให้มาดูแล ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆ นอกจากตนจะทุกข์ยากแล้ว ก็เชื่อว่าจะมีชาวบ้านอีกหลายรายที่เดือดร้อน ไม่ได้ รับการช่วยเหลือ หากผู้ใจบุญต้องการช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.089-223-5348
ที่มา : https://mgronline.com