หลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม

1
3,928 views

อัตชีวประวัติของ พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม)

ภูมิลำเนาเดิมของบิดามารดา
            เดิมโยมพ่อโยมแม่เป็นคนบ้านปากซี ใกล้กับเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ พ.ศ. 2461 ได้ชักชวนเพื่อนบ้าน 3 ครอบครัว พากันเอาเรือคนละลำหาจับปลาตามลำน้ำโขงบ้าง ตามแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง เช่น น้ำงึมทางฝั่งประเทศลาวล่องเรือลงมาเรื่อยๆ เมื่อจับปลาแล้วทำเป็นปลาตากแดดบ้าง ทำเป็นปลาร้าบ้าง แล้วขายให้หมู่บ้านต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง เมื่อขายหมดแล้วก็จับปลาอีก เมื่อเต็มลำเรือแล้วก็นำปลาไปขาย ทำอย่างนี้เรื่อยมาจนล่องถึงแม่น้ำสงคราม แล้วขึ้นตามลำน้ำสงครามจนถึงหมู่บ้านดงพระเนาว์ ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ได้อยู่ในบ้านนี้ตลอดมาเพราะตามลำน้ำนี้มีปลานานาชนิดชุกชุมมาก

ชีวิตได้อยู่อาศัยในเรือตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2466 ทางราชการได้มาตั้งกิ่งอำเภออากาศอำนวย ขึ้นที่บ้านดงพระเนาว์ ต.สามผง จึงได้ขึ้นไปอยู่บนแผ่นดินกับชาวบ้านตั้งแต่บัดนั้นมา เมื่อตั้งกิ่งอำเภอแล้วได้ 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2471 หมู่บ้านดงพระเนาว์จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า บ้านศรีเวินชัย จนตลอดมาถึงปัจจุบัน

ชาติภูมิ
            วันที่ 13 พ.ย. 2471 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง เวลา 06.00 น.  โยมบิดา ชื่อพ่ออ้วน โยมมารดา ชื่อแม่ทุมมา เป็นลูกคนที่ 6 ในจำนวน 7 คน ซึ่งมีรายชื่อดังนี้
1.นางคำมี สีแพง (เสียชีวิตแล้ว)
2.นางบัวสี นนทจันทร์ (เสียชีวิตแล้ว)
3.นางจันที เหมื้อนงูเหลือม (เสียชีวิตแล้ว)
4.นายจูมศรี ปทุกมากร
5.นายทองดี ปทุมมากร
6.พระคำพันธ์ จนฺทูปโม (ปทุมมากร)
7.เด็กชายสุวรรณ ปทุมมากร (เสียชีวิตแล้ว)
คนที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เกิดอยู่ที่บ้านปากซี เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว นอกนั้น 4 คนลงมาเกิดอยู่บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

มื่อผู้เขียนอายุ 9 ปี โยมพ่อได้เสียชีวิต เหลือแต่โยมแม่กับลูกๆ โยมแม่ต้องทำงานหนักในการเลี้ยงดูลูกทุกคนต่อมา ส่วนพี่สาวทั้ง 3 คนนั้น ได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ที่ยังเหลือก็อยู่ในความเลี้ยงดูของแม่ต่อไปในหมู่บ้านศรีเวินชัย สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน จึงเป็นเหตุให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ได้เรียนหนังสือ

บรรพชา
               เมื่ออายุได้ 10 ปี พ.ศ. 2481 โยมแม่ได้นำไปฝากอยู่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัย กับพระอาจารย์พุฒ เมื่อท่องคำขอบวชได้แล้ว พระอาจารย์พุฒพาไปบวช ไปโดยทางเรือ ขณะนั้นน้ำสงครามขึ้นเต็มฝั่ง ไปบ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม บวชกับพระครูปริยัติสิกขกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชเป็นคู่กับสามเณรจันดี ที่อยู่วัดศรีสงคราม ปีนั้นได้จำพรรษาที่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัย

ความฝันในวันบวช
 การบวชครั้งนี้โยมมารดามุ่งหมายให้บวชแทนคุณโยมบิดา ที่ท่านเสียชีวิตจากไปแล้วนั้น เมื่อบวชในวันแรกนั้นตอนกลางคืนฝันว่าได้เข้าไปบ้าน เห็นหีบศพของโยมบิดาตั้งอยู่ใต้ถุนบ้าน จึงคิดว่าไม่สมควรตั้งที่นั่น ควรจะเอาขึ้นตั้งไว้บนบ้าน เมื่อคิดแล้วก็ลงมือดึงหีบศพโยมพ่อขึ้นมาตรงกลางบ้าน ในความฝีนดึงขึ้นคนเดียว ทะลุพื้นขึ้นมาวางไว้บนบ้านได้สำเร็จ พอตื่นจากฝันจึงคิดทบทวนความฝันว่า ทำไมเราจึงแข็งแรงขนาดนั้น ดึงหีบศพคนเดียวขึ้นได้อย่างง่ายดาย จึงคิดว่าฝันเช่นนี้คงเป็นนิมิตแสดงให้รู้ว่า การบวชครั้งนี้จะช่วยโยมบิดาให้พ้นจากนรกได้ สมความมุ่งหวังที่ว่าจะบวชเพื่อช่วยโยมพ่อให้ได้พ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้แล้ว ก็เกิดปีติยินดีเป็นอันมาก

เรียนหนังสือธรรม
เมื่อบวชแล้วพระอาจารย์ได้ให้เรียนหนังสือธรรมที่จารลงใบลาน ชื่อหนังสือที่ว่านี้คือ ปัญญาบารมี โดยวิธีเอาหนังสือไปนั่งหันหลังให้อาจารย์ อาจารย์ก็บอกเป็นคำๆ ให้จำเอา แล้วทบทวนหลายเที่ยว ตอนแรกเรียนทั้งวันได้ 2 แถว 3 แถว โดยให้จำเอา ไม่มีการให้เขียนเลย ตอนหลังอ่านที่เรียนมาแล้ว ก็เรียนต่อแถวใหม่ไปเรื่อยๆ จนจบหนังสือผูกนั้น เมื่อท่องได้คล่องแล้วก็ให้เรียนหนังสือผูกใหม่ต่อไป มีการเรียนการสอนอย่างนี้ไปเรื่อยตลอดพรรษา ก็สามารถอ่านหนังสือธรรมออกและเขียนได้ การเรียนการสอนแบบนี้เป็นการเรียนการสอนแบบโบราณที่ทำกันทั่วไปในสมัยนั้น

ไปประเทศลาว 
  เมื่อออกพรรษาในปีนั้น พระอาจารย์พุฒจะไปธุดงค์ทางประเทศลาว (ขอใช้คำนี้เพราะเข้าใจง่ายดี) เพราะท่านเคยไปธุดงค์แถวเมืองท่าแขกเวียงจันทน์ ขึ้นไปถึงหลวงพระบางอยู่เสมอ ท่านจึงสั่งให้โยมชาวบ้านพากันฟันไม้เสาศาลาการเปรียญคอย ท่านจะกลับมาปลูกศาลาต่อไป โยมแม่จึงขอให้สามเณรคำพันธ์ไปด้วย เพื่อจะให้ไปเยี่ยมญาติ ทางพ่อแพงศรีไปด้วยกัน ถึงที่บ้านหมูม่น อันเป็นบ้านโยมพ่อโยมแม่ของพระอาจารย์พุฒ พัก 1 คืน ตื่นขึ้นจึงเดินทางไปบ้านนาดี ขึ้นภูลังกาข้ามไปบ้านแพง พักวัดสิงห์ทอง 1 คืน แล้วข้ามน้ำโขงไปขึ้นฝั่งลาวที่พระบาทโพนแพง พักอยู่นั้น 4 คืนแล้วนั่งรถโดยสารสองแถวซึ่งมีน้อยที่สุด เพราะบางวันก็ไม่มี 

ถ้ามีก็มีสองคันสามคันเท่านั้น จากวัดพระบาทโพนแพงไปเมืองเวียงจันทน์ เจ้าของรถเห็นหนังสือสุทธิจึงไม่เก็บค่าโดยสาร พักที่วัดอูบมุง ในเวียงจันทน์นั้น 2 คืน แล้วนั่งรถโดยสารไปเมืองหลวงพระบางเมื่อไปถึงเมืองซองจึงลงรถที่นั้น จากนั้นท่านก็พาไปธุดงค์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่พระอาจารย์พุฒเคยไปมา จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยมากก็เป็นหมู่บ้านไม่ใหญ่ ที่เป็นอยู่อย่างธรรมชาติ

เป็นไข้มาลาเรีย
ประมาณ 2 เดือนต่อมาได้เป็นไข้มาลาเรีย คือ ไข้ป่าหรือไข้จับสั่น บางวันก็ไข้ บางวันก็หาย จนร่างกายทรุดโทรม วันหนึ่งไข้หนักและไข้นาน พระเณรก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มียา พระเณรจึงเอาขี้ผึ้งตราพระเอาใส่น้ำร้อนมาให้กิน เมื่อกินแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่ใช่ยาแก้ไข้ป่าต่อมาพระอาจารย์พุฒจึงพาไปเมืองซอง ฝากไว้กับพระในวัดนั้น (ชื่อว่าวัดอะไรจำไม่ได้) ฝากกับโยมผู้มีหลักฐานดีผู้หนึ่ง แล้วพระอาจารย์พุฒก็ออกเที่ยวไปที่หลายแห่ง แล้วกลับเยี่ยมคราวหนึ่ง เห็นว่าเป็นไข้ไม่มียากินจึงตกลงกันว่า การไปบ้านปากซี เมืองหลวงพระบางนั้น ควรงดไว้ก่อน จึงได้นำกลับไปเมืองเวียงจันทน์ทั้งๆ ที่เป็นไข้อยู่ นั่งรถตามถนนลูกรัง รถโดยสารเป็นรถแบบโบราณ คือ ตัวเรือนรถทำด้วยไม้ ที่พิงหลังก็ทำด้วยไม้ ที่นั่งก็ทำด้วยไม้ เมื่อขับมาประมาณ 1 ชั่วโมง ได้อาเจียนออก ไม่มีอาหารในท้องเลย รู้สึกเหนื่อย จนถึงเวียงจันทน์ ลงที่วัดอูบมุง ท่านจึงขอฝากกับเจ้าอาวาสวัดอูบมุง ชื่อพระมหาอ่ำ (ท่านเป็นคนบ้านพานพร้าว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย) ท่านก็รับไว้อยู่ 2 วัน พระอาจารย์พุฒก็ออกไปจากวัดอูบมุง จากนั้นไม่รู้ท่านไปไหนเลย จึงได้อยู่กับพระมหาอ่ำ

จำพรรษาที่เวียงจันทน์
ในปีนั้น พ.ศ. 2481 ทางวัดมีการสอนหนังสือลาว ดังนั้นจึงตั้งใจเรียนหนังสือลาวจนอ่านออกเขียนได้ ปีต่อมาครูจะให้เรียนชั้นตรี กำลังเรียนอยู่ชั้นตรีในปี พ.ศ. 2482 ได้เกิดสงครามอินโดจีน คือประเทศไทยรบกับฝรั่งเศส ซึ่งประเทศลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ดังนั้นทางการจึงสั่งผู้อยู่เขตเมืองเวียงจันทน์ ให้ขุดหลุมหลบภัยทุกบ้านทุกวัดเพราะฝั่งไทยยิงปืนใหญ่เป็นระยะๆ ลูกปืนบางลูกตกเลยหมู่บ้านไปลงทุ่งนาก็มี ตกนอกเมืองก็มี บางลูกตกแล้วไม่ระเบิดก็มี คงจะเป็นเพราะเก็บไว้นาน เลยเสื่อมคุณภาพก็เป็นได้
  วันหนึ่งภายในวัดอูบมุง หลวงพ่อสีท่านตีเหล็กทำมีดอยู่ ประมาณบ่าย 3 โมง หรือ 15 นาฬิกาของวันนั้นได้ยินเสียงปืนใหญ่ทางฝั่งไทยยิงไปจุดไหนไม่รู้ แต่ลูกปืนผ่านตรงกับวัดพอดี เปลือกนอกลูกปืนแตกเป็นเหล็กเท่ากับด้ามมีด ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ตกลงกลางวัด ถูกหลังคาศาลาการเปรียญ ทำให้กระเบื้องมุงหลังคาแตกกระจาย 

 เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้พระเณรที่มุงดูการตีเหล็กตกใจ ต่างพากันวิ่งลงหลุมหลบภัย ส่วนหลวงพ่อสีก็ตกใจเหมือนกัน จึงวิ่งลงหลุมด้วย ทั้งที่มียังถือคีมคีบเหล็กแดงๆ ที่ตีอยู่นั้น ถ้าถูกใครเข้าคงไหม้ เพราะยังแดงๆ และร้อนมาก แต่ก็ปลอดภัยไม่ถูกใคร หลบอยู่ในหลุมนั้นประมาณ 40 นาที เมื่อไม่เห็นยิงมาอีกก็พากันออกมาจากหลุม

    เมื่อเห็นว่าถ้าอยู่ภายในเมืองนี้คงไม่ปลอดภัยแน่ ทุกวัดจึงพากันออกจากเมืองไปพร้อมทั้งญาติโยม ไปอยู่ให้พ้นจากลูกปืนที่จะยิงถึง ผู้เขียนก็ออกจากวัดไปอยู่ในที่ทำขึ้นเป็นที่อาศัยชั่วคราว แต่มีข่าวลือว่าทางประเทศไทยยิงปืนใหญ่และระเบิดใส่เมืองเวียงจันทน์ มีคนล้มตายเป็นอันมาก จนขนศพไปทิ้งไม่หวาดไม่ไหว เอาไปทิ้งลงบ่อจนเต็มหลายบ่อ โยมแม่ก็ได้ทราบข่าวนี้ ภายหลังเมื่อกลับมาบ้าน โยมแม่เล่าให้ฟังว่าท่านคิดว่าลูกเราคงจะเสียชีวิตในสงครามกับเขา ท่านจึงร้องไห้ ไม่รู้จะทำอย่างไร และพระอาจารย์พุฒก็ไม่ส่งข่าวให้รู้ว่าอยู่ไหน เป็นอย่างไร จึงทำให้ท่านเป็นห่วงลูกมาก

ที่มา : http://board.palungjit.com/f63/อัตชีวประวัติของ-พระจันโทปมาจารย์-หลวงปู่คำพันธ์-จนฺทูปโม-329372.html

แสดงความเห็น

comments

1 COMMENT