ด่วน!! แจ้งความอดีตรักษาการอธิการบดี ม.นครพนม สถาปนาเป็นผู้นำ ขัดมาตรา 145

0
628 views

นครพนม – วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 12.00 น. นายวัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยนครพนม เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก อดีตรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม (รก.อธก.มนพ.) ต่อ พ.ต.อ.เสฎฐวุฒิ รอดจันทร์ ผกก.สภ.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม โดยกล่าวหา รก.อธก.มนพ. ได้แอบอ้างว่ายังคงดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม โดยไม่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการสภา มนพ.

นายวัชรินทร์​  เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ขณะที่ตนยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ตนเป็นผู้หนึ่งที่ลงมติในการประชุมสภา มนพ. ครั้งที่ 001/2563 ซึ่งได้มีมติเป็นเอกฉันท์ออกหนังสือคำสั่งที่ 002/2563 ลงวันที่ 10 มกราคม เช่นเดียวกัน ให้ยกเลิกคำสั่งสภา มนพ. ที่ 026/2561 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2561 เรื่องแต่งตั้งผู้รักษาการอธิการบดี มนพ. คือให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็นผู้รักษาการราชการแทนฯ หลังจากนั้นทางสภา มนพ.ได้ทำหนังสือแจ้งรายงานผลการดำเนินการทางวินัยร้ายแรงต่อ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก พร้อมด้วยหนังสือแต่งตั้ง ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็นผู้รักราชการแทนฯไปยัง นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และเป็นที่ประจักษ์ในการเริ่มปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ทั้งในมหาวิทยาลัย​  และสื่อสาธารณะ จึงถือว่า ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ได้พ้นสภาพจากตำแหน่งตามคำสั่งดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2563 กลายเป็นอดีต รก.อธก.มนพ.ตั้งแต่บัดนั้นทันที
ต่อมา วันที่ 20 เมษายน 2563 ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ อดีตรักษาการ อธก.มนพ. ได้ออกมาแสดงตนและแอบอ้างว่ายังดำรงตำแหน่งเป็นรักษาราชการฯ โดยบังอาจเซ็นหนังสือและออกคำสั่งอย่างน้อย 4 ฉบับ ซึ่งขัดแย้งกับคำสั่งสภามหาวิทยาลัยนครพนม ที่ 002/2563 ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนครพนม และหนังสือของปลัดกระทรวง อว. ลงวันที่ 12 มีนาคม 2563

นายวัชรินทร์เปิดเผยต่อว่า ตั้งแต่ ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 เป็นผลให้คำสั่งที่ 002/2563 สิ้นสุดสภาพลง อีกทั้งตนเองก็ได้ลาออกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มนพ. เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา จึงเป็นช่องว่างให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก และพรรคพวกอาศัยจังหวะนี้ออกคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 0128/2563 เรื่องมอบหมายรองอธิการบดีเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี โดยที่ตนเองไม่มีอำนาจ

ดังนั้น การกระทำของผู้ที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 กรณีเป็นผู้กระทำการแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2563 อีกทั้งยังได้กระทำการแอบอ้างใช้คำสั่งแต่งตั้งและมอบหมายที่มิชอบ มีผลกระทบต่อการแต่งตั้ง โยกย้าย คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยนครพนม การกระทำจัดซื้อจัดจ้าง โครงการก่อสร้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ ล้วนเป็นความเสียหายที่ก่อให้เกิดสัญญาผูกพัน ฟ้องร้อง ต่อมหาวิทยาลัยนครพนมในอนาคต จึงขอแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีต่อ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ผู้กระทำการแอบอ้างดังกล่าว
ปัญหาการขัดแย้งกันในมหาวิทยาลัยนครพนม หมักหมมมานานเกือบ 10 ปี อันเกิดจากกรณีมีกลุ่มผู้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ มากกว่าจะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่นักศึกษา โดยหลังก่อตั้งมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2548 ด้วยการหลอมรวมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎนครพนม,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม,วิทยาลัยเทคนิคนครพนม,วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม,วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม,วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนครพนม มีนายกสภามหาวิทยาลัยคนแรกคือ นพ.ดร.กระแส ชนะวงศ์​ (พ.ศ.2548) 2.พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ​ (พ.ศ.2549-2551) 3.พลตำรวจเอก สนอง วัฒนวรางกูร(พ.ศ.2551-2553) 4.ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์​ (วาระ 1 พ.ศ.2553-2557,วาระที่ 2 พ.ศ.2557-2562) และ 4.ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ​ (พ.ศ.2562-ปัจจุบัน)
นายวัชรินทร์ฯกล่าวต่อว่า”ด้วยความที่ก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ จึงมีสิ่งปลูกสร้าง อาคารต่างๆจำนวนมาก เลยกลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มผู้คิดไม่ซื่อเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จำนวนมหาศาลนี้ และได้แก้ไขระเบียบข้อบังคับที่เป็นประโยชน์แก่ตน เพื่อใช้เป็นช่องทางสร้างเครือข่ายขุมกำลัง นำคนของตนเข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญ ขณะที่มีคณาจารย์ หรือคณบดีบางท่าน ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่ประโยชน์แก่นักศึกษา เมื่อออกมาคัดค้านก็จะถูกยัดข้อกล่าวหาตามที่นึกขึ้นได้มาห้ำหั่น ผลักดันคนที่ตนใช้เป็นมือเป็นไม้ขึ้นมา แม้จะไร้ประสิทธิภาพก็ตาม จากนั้นกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์ก็สร้างอิทธิพลข่มขู่คณบดี คณาจารย์ โดยไม่คิดจะร่วมกันสร้างให้เป็นมหาวิทยาลัยใกล้บ้านที่ดีแก่คนนครพนม แต่กลุ่มนักศึกษามักจะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างทุกครั้งเพื่อผลประโยชน์ ทำให้ปัญหาภายในมหาวิทยาลัยนครพนม ถูกร้องเรียนด้านธรรมาภิบาลมากที่สุดในประเทศไทย”

ที่มา : https://www.77kaoded.com

แสดงความเห็น

comments