นครพนมหวั่นฝนทิ้งช่วงนาน ติดตามการบริหารจัดการน้ำ มอบหน่วยงานรับผิดชอบ

0
489 views

นครพนม – หวั่นฝนทิ้งช่วงนาน ติดตามการบริหารจัดการน้ำ มอบหน่วยงานรับผิดชอบ เร่งสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรก่อนปลูกพืช

วันที่ 29 มิถุนายน 2563 บริเวณชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ พร้อมด้วย นายชาตรี จันทร์วิระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มีการเชิญคณะหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ศปก.นพ.) ในการติดตามความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันวางแผน แก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ร่วมกับนายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ ที่ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference

โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการติดตามในเรื่องการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งทางโครงการชลประทานนครพนม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำว่าปริมาณน้ำฝนจังหวัดนครพนมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 28 มิถุนายน 2563 มีปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 482.1 มิลลิเมตร น้อยกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 88.1 มิลลิเมตร

ส่วนระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนมอยู่ที่ 2.84 เมตร โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 20 แห่งที่สามารถกักเก็บได้ 56.463 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 18.134 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32.27 ขณะที่การปลูกพืชในเขตโครงการชลประทานนั้น เกษตรกรปลูกพืชไปแล้ว 31,552 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.35 และคาดว่าน้ำจะมีเพียงพอต่อการเกษตรกรในเขตโครงการชลประทานอย่างแน่นอน

ขณะที่เกษตรจังหวัดนครพนมได้ให้ข้อมูลในที่ประชุมว่า ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อของฤดู ซึ่งตามปกติในช่วงนี้ฝนจะมีการทิ้งช่วงนานประมาณ 2 เดือน จึงได้มีการมอบหมายให้เกษตรอำเภอแต่ละอำเภอลงพื้นที่ชี้แจงกับเกษตรกรเกี่ยวกับการวางแผนการเพาะปลูกให้ดี เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากฝนทิ้งช่วงนาน

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม(ปภ.ฯ) ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วงนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ว่า ในวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้ จะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 5 กรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้นประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาร์ ลาว และเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ได้

โดยภายหลังรับทราบข้อมูลรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมทั้ง 2 ท่านได้เน้นย้ำกับคณะทำงานทุกคนในเรื่องของการบูรณาการลงพื้นที่ สร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนแบบเร่งด่วน เพื่อที่เกษตรกรทุกคนจะสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เพราะถ้าเกษตรกรเห็นฝนตกลงมากในช่วงนี้ คาดว่าจะเร่งทำการเพาะปลูก ซึ่งถ้าฝนทิ้งช่วงนานเหมือนเช่นทุกปี จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรได้

ที่มา : https://www.77kaoded.com

แสดงความเห็น

comments