นามสกุล ณ นครพนม

0
15,694 views

ณ นครพนม เป็นนามสกุลซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองนครพนมในอดีต ไม่ได้เป็นนามสกุลพระราชทาน

ประวัติ

             ณ นครพนม ด้วยประวัติกล่าวว่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้น พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชแล้วได้ทรงชุบเลี้ยงโอรสของพระเจ้าศิริบุญสารอยู่ที่กรุงเทพฯเป็นอย่างดี พระเจ้าศิริบุญสารซึ่งอยู่ที่เมืองคำเกิดได้ 5-6 ปี ทรงชราภาพ ทราบว่าพระโอรสอยู่ด้วยความผาสุกจึงเสด็จกลับเมืองเวียงจันทน์ หวังจะขอสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า (ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงนิพนธ์โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เจ้าศิริบุญสารกลับจากเมืองคำเกิด จับพระยาสุโภ ซึ่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้รักษาเมืองอยู่ฆ่าแล้วตั้งอยู่ในเมืองท้าวเพี้ยขุนนางไม่ยินยอมด้วย จึงหนีลงมากรุงเทพฯกราบทูลฯ ให้ทราบแต่ไม่ทรงวางพระทัยจึงตั้งให้เจ้านันทเสนพระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าศิริบุญสารที่อยู่กรุงเทพฯให้กลับไปครองเมืองเวียงจันทน์แทน

                  ครั้นถึง พ.ศ. 2338 เกิดศึกพม่าทางเมืองนครเชียงใหม่ กองทัพสยามต้องไปปราบปราม เจ้านันทเสนกับพระบรมราชา (เจ้าพรหมา) บุตรของพระบรมราชา (เจ้ากู่แก้ว) หลานพระบรมราชา (เจ้าแอวก่าน) เหลนของเจ้าขัติยวงศา ราชบุตรามหาฤๅไชย ไตรทศฤๅเดชเชษฐบุรี ศรีโคตรบูรหลวง (เจ้าราชบุตรบุญน้อย) แห่งราชวงษ์เมืองระแหง ขออาสาไปในกองทัพยกกองทัพไปถึงเมืองเถินพระบรมราชา (เจ้าพรหมมา) ก็ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องด้วยเบื่อผักหวาน ท้าวสุดตาซึ่งเป็นโอรสพระบรมราชาจึงนำเครื่องราชบรรณาการเข้าเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุดตาเป็น พระบรมราชาครองเมืองมรุกขนคร (มฤคนคร)และให้เปลี่ยนนามเมืองเสียใหม่ว่า “เมืองนครพนม” ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร การที่พระราชทานชื่อว่าเมืองนครพนมนั้น อาจเนื่องด้วยเมืองนี้เป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงให้ใช้คำว่า“นคร”ส่วนคำว่า“พนม”นั่นอาจจะเนื่องด้วยจังหวัดนี้มีพระธาตุพนมประดิษฐานอยู่ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญอีกประการหนึ่งอาจจะเนื่องด้วยจังหวัดเดิมมีอาณาเขตหินไปถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคือบริเวณเขตเมืองท่าแขกแห่งประเทศลาวในปัจจุบันซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนไป ถึงแดนประเทศญวน จึงนำเอาคำว่า “พนม” มาใช้เพราะแปลว่า ภูเขา ส่วนคำว่า “นคร” นั้น อาจรักษาชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขนคร นั่นเอง

             ต่อมาปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพ ส่วนทางนครเวียงจันทน์ก็ให้พระยาสุโภ เป็นแม่ทัพยกกำลังมาสม ทบกองทัพพระยามหาอำมาตย์เพื่อโจมตีบ้านกวนกู่ กวนงัว ซี่งเป็นกบฏและเมื่อได้ชัยชนะจึงกวาดต้อนครอบครัวมาไว้ที่เมืองนครพนม มาตั้งที่บ้านโพธิ์ค้ำ หรือโพธิ์คำ (เข้าใจกันว่าคงจะเป็นคุ้มบ้านใต้ เมืองนครพนม นี้เอง) จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2426 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญมากเป็นพระพนมนครานุรักษ์ สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรี ศรีโคตรบูรหลวง ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนม อยู่ได้ 7 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม เจ้าราชบุตรทองทิพย์บุตรพระพนมนครานุรักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนสืบมา

ที่มา : http://th.wikipedia.org

แสดงความเห็น

comments