ประวัติสายสกุล “มังคลคีรี”

0
3,169 views

พระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (จันทร์ทองทิพย์ มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนมในภาคอีสานของประเทศไทย และเจ้าเมืองท่าแขกในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถือกำเนิดในราชวงศ์ศรีโคตรบูรอันเก่าแก่ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ เป็นโอรสในพระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (บุญมาก) เจ้าเมืองนครพนมสมัยตกเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม เป็นหลานปู่ในพระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (มัง ต้นตระกูล มังคละคีรี) เจ้าผู้ครองเมืองนครพนมแต่เมื่อครั้งนครพนมเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ หรือสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑) มารดาของพระยาพนมนครานุรักษ์ (จันทร์ทองทิพย์) มีนามว่า อัญญานางหมา เป็นธิดาในอัญญานางป้อง อัญญานางป้องเป็นธิดาในพระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤายศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (อรรคราช) เจ้าเมืองนครพนม
.
พระยาพนมนครานุรักษ์ (จันทร์ทองทิพย์) มีนามเดิมว่าท้าวทองทิพย์ ดำรงบรรดาศักดิ์ที่ท้าวสีหาบุตรกรมการเมืองนครพนม ต่อมาเลื่อนเป็นที่เจ้าอุปฮาชรักษาราชการเมืองนครพนม ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครพนม ช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองกรณีพิพาทฝรั่งเศสพระองค์ได้วิวาทกับพระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (ยศวิชัย) เจ้าเมืองนครพนมผู้เป็นอนุชาร่วมสายโลหิต ข้ามไปยังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมขุนสฤษดิ์เรณู (ไชยสาร บัวสาย) เมืองเรณูนคร และพระอัคร์บุตร (สุวรรณบุญมี รามางกูร) กองบ้านธาตุพนม ทางการฝรั่งเศสแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองท่าแขกให้สมเกียรติยศซึ่งเป็นเมืองที่พระบรมราชา (มัง) ผู้เป็นอัยกาสร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ ฝ่ายขุนสฤษดิ์เรณู (ไชยสาร) สยามเกลี้ยกล่อมมาได้แล้วแต่งตั้งให้เป็นรองยกบัตรกรมการเมืองเรณูนครต่อไป ส่วนพระอัคร์บุตร (สุวรรณบุญมี) ฝรั่งเศสส่งตัวไปรักษาราชการเมืองคำเกิดในแขวงบอลิคำไซ จากนั้นจึงอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์
.
พระยาพนมนครานุรักษ์ (จันทร์ทองทิพย์) มีพี่น้องร่วมบิดา ๘ องค์ ได้แก่ พระยาพนมนครานุรักษ์ (ยศวิชัย) เจ้าเมืองนครพนม พระศรีวรวงษ์ (แสง) กรมการเมืองนครพนม พระพิทักษ์นครพนม (โต๊ะ) กรมการเมืองนครพนม อัญญานางคำมณีจันทร์ อัญญานางจันลี อัญญานางพรหมาวดี อัญญานางอมราวดี และอัญญานางทีตา นอกจากนี้ยังมีลูกพี่ลูกน้องนามว่าเจ้าหมื่นนาม (ท้าวหมื่นนาน) ซึ่งเป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ กับพระนางสอนเทวีพี่สาวบิดาของท่านซึ่งมีศักดิ์เป็นป้า และมีลูกพี่ลูกน้องอีกองค์หนึ่งคือท้าวบัวเทพ โอรสในเจ้าราชวงศ์ (โถง) เมืองนครพนมซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายบิดาของท่าน พระยาพนมนครานุรักษ์ (จันทร์ทองทิพย์) มีโอรสและธิดา ๗ องค์ คือ อัญญาท้าวเมฆทองทิพย์ อัญญานางอุปวรรณา อัญญานางสีหาโณราช อัญญานางนารถ อัญญานางอนุวรรณา อัญญานางสุมามาตย์ และอัญญาท้าวกิตติลุนนา อัญญาท้าวเมฆทองทิพย์หรือท้าวเมฆเป็นโอรสองค์โตที่เกิดแต่อัญญานางคำกองเกิดหล้า ธิดาในเจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส (พระลามมะลาด ต้นตระกูล รามางกูร) ขุนโอกาสหรือเจ้าเมืองธาตุพนมองค์แรกจากราชวงศ์เวียงจันทน์
.
ในรูปพระยาพนมครานุรักษ์ (จันทร์ทองทิพย์) ฉายภาพริมแม่น้ำโขงฝั่งเมืองท่าแขกร่วมกับอนุชา โอรส และนัดดา ในสมัยที่ฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี (Jean Marie August Pavie) หรือ ม.ปาวี เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนลาวสองฝั่งแม่น้ำโขง
เมื่อประมาณปี ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433)

ในรูปได้แก่พระยาพนมครานุรักษ์ (จันทร์ทองทิพย์) นั่งองค์กลาง พระศรีวรวงษ์ (แสง) กรมการเมืองนครพนมอนุชา พระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆทองทิพย์ รามางกูร) อดีตขุนโอกาสหรือเจ้าเมืองธาตุพนมองค์สุดท้ายโอรสองค์โต อัญญาท้าวกิตติลุนนาโอรสองค์รอง พระศุลากรพนมกิจ (ภูมิ) กรมการเมืองนครพนมนัดดา อัญญาท้าวทอกนัดดา อัญญาท้าวทอนนัดดา อัญญาท้าวแว่นนัดดา และอัญญาท้าวเม็งนัดดา
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชทานนามสกุลของทายาทผู้สืบเชื้อสายมาจากพระบรมราชา (มัง) ว่า มังคลคีรี ทรงพระราชทานแก่พระพิทักษ์นครพนม (โต๊ะ) นอกราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย อดีตกรมการเมืองนครพนม

ข้อมูล : plerngsuriyadheva ramangkura na kotapura

ที่มา : ประวัติศาสตร์อีสานล้านช้าง

แสดงความเห็น

comments