“ผมไม่ใช่วีรบุรุษ” ร้อยเอก ชาล์ ศิริวรรณยา อดีตนายทหารจากชายแดนใต้

1
4,652 views

             จากเด็กชายตัวเล็กๆที่เคยแอบแม่ไปซื้อหนังสือสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั้งๆที่ตัวเองยังไม่รู้เลยว่าโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อย จปร.อยู่ที่ไหน หน้าที่ของทหารต้องทำอย่างไร หนำซ้ำแม่ยังแอบเอาหนังสือที่ซื้อมาไปเผาทิ้ง เพราะไม่ต้องการให้ลูกชายคนเดียวเป็นทหารด้วยมันอันตราย และต้องพยายามกำจัดความคิดนี้ออกไปจากลูกชายให้ได้…นี่คือ คำบอกเล่าของ “ผู้กองฝ้าย หรือร้อยเอก ชาล์ ศิริวรรณยา” อาจารย์แผนกวิชาอาวุธนำวิถี โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก

            “เหตุที่แม่ไม่ยังให้ผมเป็นทหาร เพราะตอนที่ผมเกิดเมื่อปี 2523 เพิ่งจะเสร็จเรื่องคอมมิวนิสต์ ซึ่งมันเกิดใกล้ๆ บ้านที่นครพนม สกลนคร แม่เห็นภาพสงคราม เวลานั่งรถผ่านค่ายทหารตอนเด็กๆ แม่ก็จะแกล้งพูดหลอกเราว่า เรียนจบมาก็จะมาตัดหญ้าแบบนี้ แต่เราก็รู้ว่าความจริงมันไม่ใช่ ส่วนพ่อก็จะเป็นสไตล์ละครไทย อืม เหรอจะไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ก็ไม่ได้ว่าอะไร เราก็ไปสมัครเรียนพิเศษก่อนสอบ แต่ก็ไปเรียนแค่ 2 วันจาก 20 กว่าวัน เพราะหนังสือที่เขาเอามาติวเป็นหนังสือเล่มเดียวกันกับที่เราเคยซื้อเมื่อตอน ป.1 หน้าปกเดียวกันต่างกัน แค่ราคาที่เพิ่มมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจไปอ่านสอบเองจนติด 3 เหล่า คือ โรงเรียนนายร้อย จปร.โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สุดท้ายก็เลือกโรงเรียนนายร้อย จปร.เพราะพ่อบอกว่า ทหารบกดีกว่ากลับมาอยู่ใกล้บ้านได้ ทั้งๆ ที่ใจตัวเองตอนนั้นอยากเป็นทหารเรือด้วยเหตุผล คือ เครื่องแบบสวย” ผู้กองฝ้าย กล่าวยิ้มๆ

ผู้กองฝ้าย ย้อนภาพวันวานสมัยเรียนให้ฟังว่า เป็นคนชอบทำอะไรแปลกๆ เช่น ทำเสียงดังที่โรงอาหารแล้วก็โดนทำโทษ แต่ผลพลอยได้ คือ ทำให้คนจำได้ ขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีคนหมั่นไส้บ้าง อีกทั้งยังไม่ชอบอ่านหนังสือซึ่งเป็นข้อเสียแต่ก็สามารถจบมาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.095 ซึ่งถ้าตนเองสามารถย้อนเวลากลับไปได้ก็จะกลับไปเรียนให้ได้เกรดดีกว่านี้

                      ส่วนที่เลือกมาเป็นนายทหารเหล่าสรรพาวุธนั้น ผู้กองฝ้าย ให้เหตุผลว่า ต้องการที่มุ่งทางวิชาการมากกว่า เพราะมีทุนให้ไปศึกษาต่อโดยเลือกรับราชการครั้งแรกที่ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ประจำแผนกเครื่องควบคุมการยิง กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก แต่เมื่ออยู่ไปสักพัก ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปไหน กระทั่งมีการเปิดอบรมหลักสูตรทำลายล้างวัตถุระเบิด : EOD (Explosive Ordnance Disposal) ในปี 2550

                     “ตอนนั้นอยากได้ความรู้เพิ่ม จึงตัดสินใจสมัครอบรมเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับระเบิดเพิ่ม ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่พี่ต่าย หรือ พ.อ.ทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ หัวหน้าหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ชุดเฉพาะกิจอโณทัย จ.ปัตตานี ไปประชาสัมพันธ์ว่า อยากได้คนไปทำงานด้วย ซึ่งเราก็สนใจ ดังนั้น พอเรียนจบก็เลยไปเสนอตัวกับทางผู้ใหญ่ เพื่อให้ส่งเราไปฝึกอบรมหลักสูตร Refresh ซึ่งเป็นการทบทวนเป็นเวลา 24 วันหลังจากอบรมเสร็จก็ต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้บังคับบัญชา และให้เพื่อนในรุ่นโหวตคัดเลือกกันเองโดยดูจากนิสัยเป็นสำคัญ เพราะหากไม่ดีก็จะไปทำให้คนอื่นตกเป็นเป็นอันตรายได้”

ขณะปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดปัตตานี

              ในที่สุดความตั้งใจของผู้กองฝ้าย ก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา และเพื่อนๆ เลือกให้ผู้กองฝ้ายไปปฏิบัติภารกิจสำคัญโดยประจำการที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด สังกัดหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อเดือนตุลาคม 2550 โดยบอกให้ครอบครัวรู้ล่วงหน้า เพียง 3 วันก่อนที่ลูกชายคนเดียวของบ้าน จะลงไปปกป้องประชาชนและผืนแผ่นดินไทย ณ ชายแดนใต้

              “ตอนแรกๆ ก็กดดัน เพราะยังไม่รู้เรื่องอะไร พอเจอระเบิดก็กลัวๆ แต่อยู่นานไปก็ทำได้ และเราก็ต้องวางตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือในหน่วย ซึ่งต้องมาจากการสั่งสมประสบการณ์ ไม่ใช่มีอำนาจจะสั่งอะไรก็ได้ต้องมีพระเดชและพระคุณ ทั้งในหน่วยและนอกที่ตั้ง ยิ่งเป็นทหารฝ่ายยุทธการ (ฝ.3) ซึ่งมีหน้าที่สั่งการให้นายทหารไปปฏิบัติภารกิจเก็บกู้วัตถุระเบิดซึ่งมันมีความเสี่ยงแต่เราเป็นนายทหารจะมาใจอ่อนไม่ได้”

ขณะปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดปัตตานี

               …และเหตุการณ์ที่แม่นิคของผู้กองฝ้าย ไม่อยากให้เกิดก็อุบัติขึ้นจนได้ เมื่อค่ำวันที่ 4 ก.ค. 2554 ผู้กองฝ้าย ฉายภาพวันนั้นให้ฟังว่า อยากลงไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้ทำงานจริงไม่ใช่คอยแต่สั่งการอย่างเดียว และยังได้ดูคนของเรา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในบารมีที่ต้องสั่งสมของการเป็นผู้นำ และพอรู้ว่าตัวเองเป็นคนเหยียบโดนระเบิดไม่เกิน 12 วินาที หลังจากเกิดเหตุก็ทำใจได้ เพราะเข้มแข็งพอ แต่ห่วงพ่อกับแม่มากกว่า โดยเฉพาะแม่ที่เพิ่งตัดนมข้างขวาไปจะรู้สึกยังไง สุดท้ายก็ให้พ่อเป็นคนบอก

               “ช่วงอยู่บนรถกระบะระหว่างนำส่งโรงพยาบาล หลังจากโดนระเบิดผมจะตั้งสติด้วยการกำหนดลมหายใจ สมาธิไม่แกว่ง รู้สึกตัวตลอดเวลา ซึ่งช่วยทำให้เลือดไม่ไหลออกมากเหมือนตอนแรก แต่พอเราจะหลับตาลูกน้องก็เขย่าตัวเราก็เลยบอกว่าผู้กองกำลังทำสมาธิ แต่ลูกน้องคนนี้ชื่อกานต์ เหงื่อแตกเลยเพราะเขาเป็นห่วงเรา

กำลังใจ – ผู้กองฝ้ายช่วยอุดหนุนล็อตเตอร์รี่อดีตพลทหารมังกรทอง ลิ้มประเสริฐกุล ซึ่งถูกระเบิดและผู้ก่อการร้ายยิงซ้ำที่ปากขณะปฏิบัติหน้าที่ชุดคุ้มครองครูที่จ.ยะลา เมื่อปี 2551

…หลังจากที่พักรักษาตัวเองอยู่หลายเดือนจนหายดี พร้อมกับได้อวัยวะชิ้นใหม่เติมเต็มให้ร่างกายสมบูรณ์ ร้อยเอก ชาล์ ก็ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนทหารสรรพาวุธ แต่กระนั้นผู้กองฝ้าย ก็ยังอยากกลับลงไปปฏิบัติหน้าที่จังหวัดชายแดนใต้เหมือนเดิม เพราะคิดถึงหน่วย คิดถึงคนที่นั้น เพราะพวกเขาอยู่กันแบบครอบครัว

ผู้กองฝ้าย บอกด้วยว่า ถ้ายังไม่โดนระเบิด ตนเองก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วย EOD เหมือนเดิม โดยความหวังสูงสุด คือ การขึ้นเป็น ผบ.หน่วยที่ตนเองสังกัดอยู่ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตและเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้วในการทำงานของคนๆ หนึ่ง

“ผมไม่เคยรู้สึกว่าเราเป็นคนพิการ เพราะเรายังมีครบทุกอย่าง ไม่เคยเสียใจ มีความภูมิใจมากกว่า และไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร หรือวีรบุรุษ แต่เข้าใจว่าทำไมถึงเรียกเรา เรายังเป็นทหารคนหนึ่งอยู่ ถ้าคนที่จะเป็นวีรบุรุษนั้นต้องเป็นพลทหาร นายสิบ ทหารพราน อาสาสมัครที่ยังอยู่ใต้สมควรที่จะได้รับการยกย่องมากกว่า และ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คงไม่กลับไปแก้ไข มันภูมิใจนะ ไม่รู้ว่าต้องทำงานกี่ปี สิ่งที่ได้รับมามันเหมือนเป็นการชดเชยที่เราต้องลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ ผมอยากให้คนถามนะว่าทำไมถึงใส่ขาเทียม เวลามาเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บที่ รพ.พระมงกุฏ ก็ถามได้ พวกผมไม่เสียใจหรอกเพราะทหารมีความเข้มแข็ง ประเทศเราต้องการคนเข้มแข็ง”

ผู้กองฝ้ายกับอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญ

               ผู้กองฝ้าย บอกด้วยว่า ถ้าใครอยากรับใช้ชาติไม่จำเป็นต้องเป็นทหารเพียงอย่างเดียว อยู่อาชีพไหนก็ทำได้แค่เพียงทำหน้าที่ของตนเองให้สมกับที่ทหารปฏิบัติภารกิจอยู่ชายแดนใต้ เพราะอยากให้ประเทศสงบ และรู้ว่าหน้าที่ของตนคืออะไร ก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการแสดงความรักชาติอย่างหนึ่ง และหากมีโอกาสก็อยากให้มาเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่มาให้กำลังใจเขา หรืออาจจะโพสผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่นhttps://www.facebook.com/makwarakfromyala ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้กับพวกเขา นายสิบ พลทหาร และครอบครัว ไม่ใช่จะมาสรรเสริญแต่นายทหาร นายตำรวจหรือใครก็ไม่รู้ซึ่งนับรวมตนเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สิ่งที่พวกเราทำ คือ ให้ประชาชนและสถาบันได้คงอยู่มีความสงบสุขอย่างที่เคยเป็นมา ไม่ต้องมายุให้ทหารทำอะไรที่ไม่เข้าท่า และทหารจะสบายใจถ้ารู้ว่าแนวหลังอยู่อย่างมีความสุข

…ในวันนี้เด็กชายตัวเล็กๆ คนนั้น ที่กลายเป็นผู้ชายตัวโตๆ หัวใจแกร่งคนนี้คงสามารถตอบตนเองได้แล้วว่าทหารอาชีพที่ดีต้องทำอย่างไร

โดย…รัชญา จันทะรัง

ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086864

แสดงความเห็น

comments