ผู้ไทย ในเรณูนคร

0
3,667 views

               เมื่อคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลอีสาน ในปี พ.ศ.2449 ทรงกล่าวถึงเมืองเรณูนคร ตอนหนึ่งว่า             “…ถึงเมืองเรณูนครเวลาเช้า 2 โมง 20 นาที มีราษฎรชายหญิงมารับเป็นอันมาก เมืองเรณูนครนี้เดิมชื่อบ้านดงหวาย ตั้งเป็นเมืองขึ้นเมืองนครพนมรัชกาลที่ 3 สังเกตดูผู้คนแต่งตัวสะอาดเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่งที่ได้ผ่านมาแล้ว พลเมืองเป็นผู้ไทยโดยมาก มีจำนวน 11,968…”

             พ.ศ.2369 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 พระเจ้าอนุรุทธกุมาร (เจ้าอนุวงศ์) เวียงจันทน์ เป็นกบฏ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกำลังไปปราบ แล้วกวาดต้อนกลุ่มชนเผ่าต่างๆ รวมถึงชาวผู้ไทย เข้ามาฝั่งขวาแม่น้ำโขงหลายคราว

            ครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ.2384 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพหัวเมืองไปตีเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมถึงเมืองวังด้วย ท้าวเพชร ท้าวสาย ท้าวไพ บุตรพระยาเตโช นำชาวผู้ไทยอพยพจากเมืองวัง ข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งสยาม พักที่ค่าย “โพธิ์สามต้น” (ปัจจุบันคือบ้านพระกลางทุ่ง ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม) ต่อมาได้ไปนมัสการถามเจ้าอาวาสพระธาตุพนมถึงที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ จึงได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หนองหวาย ซึ่งมีห้วยบ่อแกไหลผ่าน ให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านดงหวาย สายบ่อแก” ต่อมาชาวผู้ไทยได้อพยพมาจากเมืองวังมาสมทบเพิ่มขึ้นอีก เรียกกันว่า “บ้านเมืองเว” 

               ในพ.ศ.2387 รัชกาลที่ 3 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านดงหวาย (บุ่งหวาย) ขึ้นเป็นเมือง “เรณูนคร” (หมายถึง เมืองแห่งมวลเกสรดอกไม้) และใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน

                เรณูนคร จึงเป็นถิ่นของชาวผู้ไทยที่เข้ามาผสมผสานตั้งรกราก ส่วนหนึ่งของสยามอีกกลุ่มหนึ่ง

เรือนอินทร์ หน้าพระลาน

ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20100920/73802/“ผู้ไทย”ในเรณูนคร.html

แสดงความเห็น

comments