ฝนถล่มนครพนม นาแกจมน้ำ เจอน้ำโขงหนุน นาข้าวเสียหายกว่าพันไร่

0
1,034 views

ฝนกระหน่ำที่นครพนม ส่งผลให้ อ.นาแก อ่วมเจอน้ำในแม่น้ำโขงหนุน ลำน้ำก่ำเอ่อล้น ไหลท่วมนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ ตำบลนาคู่ หนักสุด ท่วมนาข้าวเสียหายเกือบพันไร่ เนื่องจากปริมาณน้ำยังสูง จนท.ท้องถิ่นเร่งสำรวจหาทางช่วยเหลือ…

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 นายพิมะ แสงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม พร้อมด้วย นางสาวสิรินาถ อินภูวา เกษตรประจำตำบลนาคู่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.นาคู่ และ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบ สำรวจความเสียหาย กรณีชาวบ้านในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ระดับ ประมาณ 9.50 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติเพียงแค่ 3.50 เมตร คือ ที่ระดับที่ประมาณ 13 เมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลักไหลระบายลงน้ำโขงช้า ทำให้เกิดปัญหาเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรนาข้าวของเกษตรกร โดยในส่วนของพื้นที่ อบต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำสาขาสายหลัก คือ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ได้รับผลกระทบหนัก

เบื้องต้นจากการสำรวจ พบว่ามีพื้นที่การเกษตรนาข้าวของชาวบ้าน ถูกน้ำท่วมขัง มากกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน มี หมู่ 4 บ้านแขนนาง หมู่ 6 บ้านหนามบ่อ หมู่ 8 บ้านนาคู่เหนือ หมู่ 9 บ้านนาคู่น้อย มีระดับน้ำท่วมขังสูงประมาณ 1 เมตร เนื่องจากลำน้ำก่ำเอ่อล้น เพราะไหลระบายลงน้ำโขงช้า ทำให้ต้นข้าวนาปี ของเกษตรกร ที่พึ่งปักดำแล้วเสร็จได้ประมาณ 2 เดือน เริ่มได้รับความเสียหายเน่าเสีย หากระดับน้ำไม่ลดลงในช่วงอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จะทำให้พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายมากขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งสำรวจ หาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน

นายพิมะ แสงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่ อบต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม ได้รับผลกระทบหนัก เพราะอยู่ติดกับลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง แต่หลังระดับน้ำโขงสูง ทำให้ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบังเอ่อล้น เข้าท่วมพื้นที่นาข้าว เพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม เบื้องต้นจากการสำรวจมีพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมขังกว่า 1,000 ไร่ คาดว่าจะได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เนื่องจากปริมาณน้ำยังสูง และมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำลดช้า ซึ่งได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ รายงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง และหาทางช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนในระยะยาว ยังมีปัญหาเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม ยากในการสร้างคันคูป้องกัน เพราะติดกับลำน้ำสายหลัก จึงประสบปัญหาความเดือดร้อนทุกปี แต่ในระยะยาวจะได้หารือหน่วยงานเกี่ยวข้องหาทางแก้ไขต่อไป.

ที่มา : http://www.thairath.co.th

แสดงความเห็น

comments