พระธาตุจำปา

0
5,140 views

พระธาตุจำปา

ภาพประกอบจาก facebook คุณ : ศิริวรรณ กำภูศิริ

ประวัติพระธาตุจำปาบ้านเสาเล้า

วัดพระธาตุจำปา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่๒ บ้านเสาเล้า ตำบลโพนสวรรค์ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม วัดพระธาตุจำปา พบว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๕๓ โดยการนำของพระดี กตปุญโญ และนายกัญญา ดวงดูสัน พร้อมด้วยชาวบ้านเสาเล้า และหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันสร้าง ส่วนองค์พระธาตุจำปานั้น มีหลักฐานการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ โดยการนำของพระเม้า ปญฺญาวโร ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๗ ปี จึงแล้วเสร็จ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุจำปา จัดเป็นพระธาตุแบบอีสานสมัยรัตนโกสินทร์ องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ฐานกว้างยาวด้านละ ๔.๔๐ เมตร สูงประมาณ ๒๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทำซุ้มประตูทั้ง ๔ ด้าน ลักษณะพระธาตุเป็นแบบกลุ่มฐานสูง ที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบจาก องค์พระธาตุพนม และมีรูปทรงคล้ายกับพระธาตุท่าอุเทนมากที่สุด ต่างกันตรงที่มีขนาดเล็กกว่า ลักษณะของเรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมสูง เรือนธาตุชั้นแรกและชั้นที่ ๒ ประดับด้วยซุ้มประตูหลอกและลายปูนปั้นลงสีอย่างสวยงามทั้ง ๔ ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นส่วนองค์ระฆัง ทำทรงบัวเหลี่ยมประดับด้วยกระจกสีและลายดอกจอกปูนปั้น ถัดขึ้นไปเป็นแอวขันรองรับส่วนตีนหีบ ที่ยืดสูงคอดเรียวขึ้นไปเป็นลักษณะคล้ายคอขวด โดยระหว่าง ปลียอดและส่วนตีนหีบ คั่นกลางด้วยแอวขัน จากนั้นจึงเป็นส่วนของยอดพระธาตุที่ทำเป็นบัวเหลี่ยมเรียวขึ้นไปสู่ยอดสุดติดกับฉัตร ซึ่งแต่เดิมฉัตรทำด้วยทองเหลือง แต่ถูกฟ้าผ่าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ จึงได้นำฉัตรเหล็กขึ้นไปใส่ไว้แทน

พระธาตุจำปาเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญกับชุมชนในแถบจังหวัด นครพนม โดยเฉพาะในเขตอำเภอโพนสวรรค์ โดยถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความศักดิ์สิทธิ์และ เป็นที่เคารพบูชาเช่นเดียวกับวัดพระธาตุพนม พระธาตุท่าอุเทน พระธาตุเรณูนคร และพระธาตุประสิทธิ์ วัดธาตุจำปา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๖๙ ง ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๘๐ ตรว. องค์พระธาตุจำปา ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และเสริมความมั่นคง สง่างาม ตามรูปแบบ เดิม ขององค์พระธาตุ โดยสำนักศิลปากรที่๑๐ ร้อยเอ็ด กระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ และแล้วเสร็จวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ในปีต่อมา เหตุแห่งการซ่อมแซม เนื่องจากพระธาตุจำปาองค์เดิม มีลักษณะการเอียงตามการทรุดตัวของพื้นดิน และเกิดความเสี่ยงต่อการหักพังลงมา

สำหรับงานนมัสการพระธาตุจำปา ได้ถูกกำหนดจัดให้มีขึ้น ในช่วงระหว่างวันแรม ๓ ค่ำ ถึง แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี รวม ๓ วัน ๒ คืน ซึ่งเดิมนั้นได้มีการจัดงานในลักษณะเช่นนี้ ต่อเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี ในรูปแบบ ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น และใช้ชื่อว่า“งานสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีนมัสการพระธาตุจำปา”ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน เพื่อ อนุรักษ์ สืบสาน และดำรงไว้ซึ่ง ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอำเภอโพนสวรรค์ ที่สืบทอด กันมา ที่แสดงออกถึงความรัก สมัครสมานสามัคคี และความศรัทธาของพี่น้อง ชาวอำเภอโพนสวรรค์ ที่มีต่อองค์พระธาตุจำปา ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมือง ของอำเภอโพนสวรรค์ให้คงอยู่ตลอดไป อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์องค์พระธาตุจำปา ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ที่มา : http://www.m-culture.in.th

แสดงความเห็น

comments