รพ.จิตเวชนครพนมฯ นำร่องติด “คิวอาร์โค้ด” บนซองยา ลดกินยาผิดจนอาการกำเริบ

0
873 views

รพ.จิตเวชนครพนมฯ นำร่องทำ “คิวอาร์โค้ด” บนซองยาจิตเวช สแกนผ่านสมาร์ทโฟนได้ข้อมูลยา วิธีการกิน ข้อห้ามต่างๆ ทั้งแบบข้อความและเสียง ช่วยผู้ป่วย ญาติเข้าใจมากขึ้น การรักษาเป็นไปตามแผน ลดเสี่ยงอาการกำเริบจากการกินยาไม่ถูกต้อง ผลประเมินพึงพอใจสูง เตรียมขยายให้ครบยาทุกรายการ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชหลังกลับไปอยู่บ้านแล้ว มีอาการกำเริบและต้องกลับมารักษาซ้ำอีก เนื่องจากกินยาไม่ถูกต้อง มีหลายสาเหตุคือ ผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วยและไม่ยอมกินยา อ่านข้อมูลยาที่หน้าซองยาไม่ออก หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ การได้ข้อมูลคำอธิบายจากเภสัชกรเพียงครั้งเดียว จึงกินยาไม่ถูกต้อง รวมถึงตัวโรคที่เป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง มีผลต่อความคิด ความจำการรับรู้ของผู้ป่วย นอกจากนี้ ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชบางรายเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาในด้านการอ่านทำให้ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามแผนการรักษาของแพทย์ กรมฯ จึงเร่งแก้ปัญหาโดยมีนโยบายให้นำคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาใช้กับระบบยาจิตเวช เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ และให้ข้อมูลเรื่องยาแก่ผู้ป่วยและญาติด้วยวิธีการที่ง่ายขึ้นทั้งเรื่องตัวยา ฤทธิ์ของยา วิธีการกิน อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ และข้อห้ามต่างๆ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาได้ผลไม่ดี เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ป่วยกินยาได้ถูกต้องตามแผนการรักษาของจิตแพทย์ ขณะนี้เริ่มแห่งแรกแล้วที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งคนไทยและชาวลาวใช้บริการวันละประมาณ 300 คน

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายเภสัชกรรมของ โรงพยาบาลได้ทยอยจัดทำคิวอาร์โค้ดยาจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่กำกับในฉลากติดที่ซองยา เริ่มจากยาที่ใช้บ่อยที่สุดก่อน 17 รายการ เช่น ยารักษาโรคจิตเภท ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยารักษาโรคซึมเศร้า โดยจะสแกนคิวอาร์โคดติดที่ฉลากยาทุกซอง และให้รายละเอียดยาแต่ละตัวใน 2 รูปแบบ คือ เป็นข้อความสำหรับอ่าน และเป็นคลิปเสียง เพื่อให้ผู้มีปัญหาสายตาเลือกฟังได้ โดยมีทั้งสำเนียงภาคกลางและภาษาถิ่นอีสาน ทำให้ผู้ป่วยจากลาวก็สามารถฟังเข้าใจได้ ซึ่งเภสัชกรจะให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติทุกคนก่อนจ่ายยา สำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ด ทำได้โดยใช้สมาร์ทโฟนสแกนที่ซองยาผ่านแอปพลิเคชัน “ไลน์” หรือเครื่องอ่านคิวอาร์โค้ดก็จะปรากฏข้อมูลของยาชนิดนั้นทันที ผู้ป่วยและญาติสามารถศึกษารายละเอียดการใช้ยาได้ด้วยตนเอง และสามารถเฝ้าระวังอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยาได้ ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยใช้ยาอย่างมั่นใจและต่อเนื่อง และเพิ่มความสะดวกให้บุคลากรสาธารณสุขที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชนในการติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงจากยาที่ผู้ป่วยใช้ได้อย่างดี

“จากการประเมินผลเบื้องต้นพบว่า ทั้งผู้ป่วยและญาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ปกครองผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มีความพึงพอใจสูงกว่าร้อยละ 95 เนื่องจากได้รับความสะดวก สามารถเปิดดูข้อมูลได้ตลอดเวลา และรู้จักชื่อยาที่กิน มีความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของยา และความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้การรักษาได้ผลดี รวมทั้งข้อห้ามต่างๆ ระหว่างที่กินยา ข้อควรระวังในการเก็บรักษาตัวยาให้คงประสิทธิภาพต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการดีขึ้นมาก โดยปัญหาในการรักษาที่ผ่านมานั้นเด็กมักกินยาไม่ครบถ้วน สาเหตุเกิดมาจากความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่กลัวว่ายาที่ใช้รักษา เช่น ยาเมทิลเฟนนิเดท จะไปกดหรือบีบสมองของเด็ก แต่หลังจากนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้แล้วผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้องและดูแลการกินยาของลูกให้เป็นไปตามแผนการรักษาของจิตแพทย์เป็นอย่างดี ทั้งนี้ รพ.จะเร่งดำเนินการพัฒนาคิวอาร์โคดให้มีทั้งภาพประกอบ ข้อความ และเสียงในยาจิตเวชทุกตัว ที่มีกว่า 200 รายการ ยาแต่ละตัวใช้เวลาฟังเพียง 2 นาที สามารถฟังซ้ำไปซ้ำมาจนเข้าใจดีขึ้น หากยังมีข้อสงสัยสามารถคุยกับเภสัชกร ทางหมายเลข 0-4253-9032 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : https://mgronline.co

แสดงความเห็น

comments