ลำน้ำสงครามวิกฤติ ท่วมบ้านเรือนเร่งนำวัว-ควายหนี ทร.ยังมั่นใจรับมือไหว

0
1,029 views

ลำน้ำสงครามยังวิกฤติ เอ่อท่วมบ้านเรือน เร่งอพยพ วัว ควาย หนี “ทัพเรือ” สั่งเพิ่มเรือผันน้ำ มั่นใจยังรับมือไหว เร่งระบายวันละ 3-4 ล้าน ลบ.ม.รับมือน้ำอูนล้น ขณะที่ “ทหารพัฒนา” เสริมกำลังแจกเสบียงอาหาร เร่งฟื้นฟู น้ำท่วมนาแกวิกฤติจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 อำเภอ นาข้าวเสียหายกว่า 2 แสนไร่…

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่แถบลุ่มน้ำสงคราม และลำน้ำอูน ยังคงวิกฤติ ระดับน้ำมีความสูงประมาณ 12 เมตร เกินความจุประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้ลำน้ำสงครามเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ในพื้นที่ บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ที่ติดกับลำน้ำสงคราม แม่น้ำสาขาสายหลักที่เชื่อมไปยังน้ำโขง จำนวนเกือบ 100 หลังคาเรือน ซึ่งตรวจสอบพบว่า มีบ้านเรือนของชาวบ้าน เกือบ 500 หลังคาเรือน ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำสงครามเอ่อท่วม หากมีฝนตกลงมาซ้ำอีกในช่วงนี้ เพราะเป็นพื้นที่ติดกับลำน้ำสงคราม ตั้งอยู่ในลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้ในช่วงนี้ชาวบ้าน ต่างเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง เก็บสิ่งของขึ้นที่สูง จัดเตรียมเรือไว้สัญจร รวมถึงได้เร่งอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงการเกษตร วัว ควาย ไปเลี้ยงไว้ในพื้นที่สูง เพราะเกรงว่าจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และมีการเก็บสต๊อกหญ้าอาหารสัตว์ไว้สำรอง ป้องกันขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์ หากเกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ บ้านนาคูณทุ่ง หมู่ 3 ต.นาคูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ยังได้รับผลกระทบจากลำน้ำอูนเอ่อล้น เข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน มานานกว่า 7 วัน ระดับน้ำยังทรงตัวที่ประมาณ 1 – 1.50 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่กินบนชั้น 2 ของบ้าน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ เอกชน ยังคงต้องให้การช่วยเหลือ นำเรือท้องแบน ลุยน้ำเข้าไปแจกจ่าย อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค บริโภค ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในส่วนของการแก้ไขปัญหาทางด้าน จังหวัดนครพนม ได้ร่วมกับกองทัพเรือ รวมถึงหน่วยเรือรักษาความสงบตามลำแม่น้ำโขงนครพนม และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้มีการเสริมเรือผลักดันน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุน จากกองทัพเรืออีก จำนวน 12 ลำ เพื่อนำไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำลำน้ำอูน ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม เพื่อให้มวลน้ำเพิ่มการระบายลงสู่น้ำโขงเร็วที่สุด หลังจากก่อนหน้านี้ ได้มีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำ บริเวณสะพานลำน้ำสงคราม ในเขตเทศบาลตำบลศรีสงคราม จำนวน 35 ลำ และมีการเดินเครื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถผลักดันน้ำได้วันละประมาณ 3 – 4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทางเจ้าหน้าที่มั่นใจว่า หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีก ในช่วงนี้ ในระยะเวลาประมาณ 10 วัน จะทำให้สถานการณ์ลำน้ำสงคราม และลำน้ำอูนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงประกาศเตือนให้ประชาชน เฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะเขื่อนน้ำอูนในพื้นที่ จ.สกลนคร ที่เป็นต้นน้ำยังมีปริมาณน้ำสูงเกินความจุ ประมาณ 120 เปอร์เซ็นต์ จากความจุประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้าน น.ท.มานิต ขุนเอม หัวหน้าชุดเฉพาะกิจควบคุมเรือผลักดันน้ำ กองทัพเรือ เปิดเผยว่า สำหรับเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ถือว่าเป็นเรือที่มีศักยภาพที่สามารถผลักดันน้ำได้ดีพอสมควร และเคยไปดูแลช่วยเหลือประชาชนมาหลายพื้นที่ ส่วนในพื้นที่นครพนม จุดหลักคือ ลำน้ำสงคราม ได้ติดตั้งจำนวน 35 เครื่อง แต่ละลำหากเดินเครื่องเต็มที่จะสามารถผลักดันน้ำได้ ลำละประมาณ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อเครื่อง ต่อวัน รวม 35 เครื่องจะผลักดันน้ำได้ วันละประมาณ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ผ่านมาพบว่าสามารถผลักดันน้ำลงน้ำโขงได้ดีพอสมควร ทำให้บางจุดระดับน้ำลด แต่ยังมีปัญหาคือปัจจัยต้นน้ำ ที่ไหลมาสมทบ บวกกับมีฝนตกลงมาจะทำให้ให้ระดับน้ำลดช้า แต่ทางกองทัพเรือมั่นใจว่าจะสามารถควบคุม เร่งผลักดันน้ำให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ และมีการเสริมเรือผลักดันน้ำเพิ่มอีกในลำน้ำอูน ที่จะช่วยให้น้ำไหลระบายดีขึ้น ซึ่งทางกองทัพเรือยังมีเรือผลักดันน้ำอีกที่พร้อมจะมาสนับสนุน หากระดับน้ำยังไม่ลด ส่วนระยะเวลาจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัย เรื่องพายุฝนที่ตกลงมาเติมอีกด้วย

ขณะที่ พ.อ.ธีระยุทธิ์ จินหิรัญ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 21 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำกำลังทหารเยี่ยมให้กำลังใจชาวบ้านสนับสนุนให้การช่วยเหลือ แจกเสบียงอาหาร ถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค ชาวบ้านที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งมีชาวบ้านประสบปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำท่วม จำนวนเกือบ 200 หลังคาเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดรอบ 50 ปี มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 – 2 เมตร เป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ หมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องรอเจ้าหน้าที่นำเรือเข้าไปช่วยเหลือแจกจ่ายอาหาร ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังมีบางจุดที่ยังท่วมขัง ถนนสัญจรยังไม่สามารถจะใช้งานได้ตามปกติ ต้องใช้รถไถการเกษตร และรถยนต์โฟร์วีลยกสูง ลำเลียงขนส่งเสบียงอาหาร เข้าไปช่วยเหลือ โดยยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะระดับน้ำก่ำยังมีความจุเกินปริมาณ หากมีฝนตกลงมาซ้ำอีก เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังอีกรอบ ซึ่งทางชลประทาน ได้เร่งพร่องน้ำลงน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมสนับสนุน เครื่องจักร และกำลังพล ร่วมกับ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22.

ที่มา : https://www.thairath.co.th

แสดงความเห็น

comments