วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ

0
3,841 views

ภาพแห่งประวัติศาสตร์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ

ภาพแห่งประวัติศาสตร์คณะรัฐบาลแห่งประชาธิปไตย

การฉลองวันรัฐธรรมนูญ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยามค่ำคืน

             เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ นับเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับแรก”ให้แก่ปวงชนชาวไทย และพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

               หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวัน ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหตุการณ์นั้นนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการปกครองของไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมายาวนานถึง ๗๐๐ กว่าปี (คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย คือ เป็นทั้งผู้ออกกฎหมายบริหารบ้านเมือง และตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง ส่วนพวกขุนนาง ข้าราชการ เป็นเพียงกลไกที่ปฏิบัติไปตามพระบรมราชโองการเท่านั้น) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของ ประเทศ

สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องมาจาก
๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้วยพระองค์ทรง ปลดข้าราชการออกเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ

๓. อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

๔. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี ได้แก่ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎร

                   จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไป จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติจากคณะผู้รักษาการพระนคร ฝ่ายทหาร ประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

                   นอกจากนี้ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร ทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังนี้ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล 

                   แม้ว่าลักษณะการปกครองจะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ยังเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อกันไปในราชวงศ์ ดังนั้น การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติในการออกกฎหมายต่างๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงจะมีผลบังคับใช้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดี ให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

                   จนกระทั่งวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการที่ต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองแบบระบอบรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีที่พระมหา กษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน ราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐ ที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้ง ใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใด จะละเมิดมิได้

และนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ นับเฉพาะฉบับที่สำคัญมี ๑๘ ฉบับด้วยกัน คือ 

๑. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐

๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ประกาศและบังคับใช้วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

๗. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒

๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑

๙. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

๑๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

๑๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

๑๒. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐

๑๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

๑๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

๑๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

๑๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

                     จากการที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง ๑๘ ฉบับด้วยกัน ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยมีความอ่อนแอในเรื่องของประชาธิปไตยอย่างมาก เห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เหตุการณ์ในช่วงนั้นประชาชนไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดเรื่องการเมือง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบที่มีความรุนแรงถึงขั้นก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ทำให้ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นสยามเมืองยิ้มในสายตาชาวต่างประเทศ กลายเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องระมัดระวังตัวเมื่อเดินทางมา ประเทศไทย เนื่องจากถูกลดอันดับความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นคงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก

                   ดังนั้น เนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระ ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิต โดยปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย มีความสามัคคีและประนีประนอม ตลอดจนมีจิตสำนึกสาธารณะและยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาความแตกแยกในสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น สังคมไทยก็จะเข้มแข็งเป็นสังคมแห่งสันติสุขอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา : http://www.watnawong.ac.th

แสดงความเห็น

comments