สโมสรเสือป่า จังหวัดนครพนม 2459 ดำริห์การสร้างโดย พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก

0
4,530 views

สโมสรเสือป่า จังหวัดนครพนม 2459
ดำริห์การสร้างโดย พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก

ที่มาจาก facebook คุณ : KO Kosin

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2453 แล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสที่ตรัสแก่ราษฎรเมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีความตอนหนึ่งว่า

“  การตั้งกองเสือป่าขึ้นด้วยความมุ่งหมายจะให้คนไทยทั่วกันรู้สึกว่า ความจงรักภักดีต่อผู้ดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามมติธรรมประเพณีประการ 1  ความรักชาติบ้านเมืองและนับถือศาสนาประการ 1  ความสามัคคีในคณะและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ยังมีพระราชปรารภในการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น(จดหมายเหตุเสือป่า พ.ศ.2454) ว่า  “มีพลเรือนบางคนที่เป็นข้าราชการและที่มิได้เป็นข้าราชการ มีความปรารถนาจะได้รับความฝึกหัดอย่างทหาร แต่ยังมิได้มีโอกาสฝึกหัด เพราะติดหน้าที่ราชการเสียบ้าง หรือเพราะติดธุระอย่างอื่นเสียบ้าง  การฝึกเป็นทหารนั้นย่อมมีคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอยู่หลายอย่างที่เป็นข้อใหญ่     ข้อสำคัญก็คือกระทำให้บุคคลซึ่งได้รับความฝึกฝนเช่นนั้นเป็นราษฎรดีขึ้น กล่าวคือ ทำให้กำลังกายและความคิดแก่กล้าในทางที่เป็นประโยชน์ ด้วยเป็นธรรมดาของคน ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดบังคับให้ใช้กำลัง และความคิดของตนแล้วก็มักจะกลายเป็นคนอ่อนแอไป  อีกประการหนึ่ง การฝึกหัดเป็นทหารนั้นทำให้คนรู้วินัย คือฝึกหัดตนให้อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ที่เป็นหัวหน้าฤานายเหนือตนซึ่งนำประโยชน์มาให้แก่ตนเป็นอันมาก เพราะว่าถ้ารู้จักเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาดี  ต่อไปก็จะเป็นคนบังคับบัญชาคนได้ดี จะเป็นนายที่รู้จักน้ำใจผู้น้อย ทั้งเป็นทางสั่งสอนอย่างหนึ่งให้คนมีความยำเกรงตั้งอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายของประเทศบ้านเมือง ทั้งจะปลุกใจคนให้มีความรู้สึกรักพระเจ้าแผ่นดิน ชาติและศาสนา จนยอมสละชีวิตถวายพระเจ้าแผ่นดิน ฤาเพื่อป้องกันรักษาชาติศาสนาของตนได้”

อธิบายเพิ่มเติม – แรงบันดาลพระราชหฤทัย

  1. การก่อตั้งเสือป่านี้  พระองค์มิได้เริ่มขึ้นในขณะนั้นเสียทีเดียว  แต่ทรงทดลองฝึกหัดมาก่อนแล้วตั้งแต่ยังมิได้ขึ้นครองราชย์  โดยทรงฝึกทหารมหาดเล็กจำนวนหนึ่งที่วังสราญรมย์ตามแบบอย่างใหม่ที่พระองค์ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรบนอกแบบ สงครามกองโจรและการซ้อมรบกลางคืน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นของใหม่ คนที่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้มักกล่าวเชิงตำหนิพระองค์ว่าทำเป็นของเล่น ๆ เพื่อสำราญพระราชหฤทัย  กระทั่งนายทหารก็ยังเข้าใจกันเช่นนั้น  แม้เมื่อตั้งกองเสือป่าแล้วก็ยังพูดกันว่า ทรงตั้งเสือป่าขึ้นมาแข่งกับทหาร
  2. การซ้อมรบในเขตพระราชฐานอุทยานสราญรมย์  เมื่อเริ่มมาสะดวก  พระองค์ทรงมองไปถึงการมีเมืองหลวงสำรองหากเกิดวิกฤติการณ์สงครามกับมหาอำนาจ  ทรงซื้อที่ดินสนามจันทร์  นครปฐม จำนวน 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  ด้วยทรงเห็นชัยภูมิที่เหมาะสมทุกประการ  การซื้อที่ดินหรือสงวนที่ดินในรัชกาลของพระองค์ มักจะทรงประกาศว่าโปรดไว้สำหรับสร้างที่ประทับหรือพระราชวังอยู่เสมอ  เพื่อมิให้ผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติล่วงรู้เหตุผลที่แท้จริง   ที่สนามจันทร์นี้พระองค์ได้นำกองเสือป่ามาฝึกซ้อมและตั้งกองบัญชาการเสือป่าในเวลาต่อมา
  3. ความมุ่งหมาย ย้อนหลังไปถึงรัชกาลที่ 5  ปัญหาการถอนทหารออกจากภาคใต้ของไทยตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้กับอังกฤษ  ผนวกกับการถอนทหารออกจากชายแดนตะวันออกเนื่องจากวิกฤติการณ์ ร.ศ.112  ทำให้ขาดความมั่นคงอย่างมาก  แนวพระราชดำริการตั้งกองอาสารักษาดินแดนซึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัครฝ่ายพลเรือน  ช่วยปิดช่องว่างทางการทหารได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสือป่ากระจายออกไปทั่วประเทศ  จะมีกองกำลังนักรบประชาชนที่อยู่ในท้องที่ มีความชำนาญในท้องถิ่นประจำการอยู่  เป็นการป้องปรามข้าศึกอย่างดียิ่ง
  4. พระราชดำริที่จะตั้งเป็นกองเสือป่าชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรือพระที่นั่งจักรี  ครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้  เดือนเมษายน พ.ศ. 2454  ทรงปรึกษากับผู้ใกล้ชิดหลายท่าน  และได้เริ่มจดชื่อผู้ที่จะเป็นเสือป่าในชั้นแรกที่เรือพระที่นั่งจักรีนั้นเอง
  5. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเสือป่าขึ้นไว้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454  มีสมาชิกครั้งแรก  141 ท่าน  ทรงดำรงพระยศนายกองใหญ่ผู้บังคับการกองเสือป่า
  6. การใช้ชื่อเสือป่า   ทรงอธิบายไว้ว่า “เป็นชื่อเก่าที่มีปรากฏได้ใช้มาในเมืองเราแต่โบราณกาล……..มีทหารโบราณจำพวกหนึ่ง  เรียกว่า  เสือป่า  คู่กับ แมวเซาหรือแมวมอง……ตรงกับที่ในกองทัพบกทุกวันนี้เรียกว่า “ผู้สอดแนม” หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า “สเค๊าท”………ส่วนแมวเซาหรือแมวมองนั้น…….เรียกว่า “กองระวังด่าน” หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า     “เอ๊าตโป๊สต์”  ….ฯลฯ
  7. การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาครั้งแรก  ทรงพระราชดำริว่า          “…….บัดนี้ มีผู้มาสมัครเข้ามีจำนวนพอที่จะตั้งเป็นกองร้อยขึ้นได้กองหนึ่งแล้ว  ควรจะให้กระทำสัตย์สาบาลตนเข้าประจำกอง….”   กำหนดวันที่ 6  พฤษภาคม พ.ศ. 2454  เวลา 14.00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  8. เครื่องแบบเสือป่า  เมื่อทรงเริ่มเสือป่านั้น  ทรงมุ่งให้ใช้ม้าเป็นหลักเพื่อการลาดตระเวนเป็นหน่วยแรก  ดังนั้นหากวันที่ต้องฝึกหัดเกี่ยวกับม้าให้ใช้กางเกงขี่ม้า หากมีการอบรมปกติก็ให้นุ่งขาสั้นได้  เครื่องแบบที่เห็นในภาพวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  เป็นเครื่องแบบสนาม
  9. ครื่องแบบเสือป่าโดยปกติ นั้น “…..นุ่งกางเกงดำขาสั้น ใส่เสื้อเชิ้ตสีดำแขนยาว  ถุงเท้าก็เป็นสีดำยาวดึงสูงขึ้นมาจนถึงใต้เข่า  แล้วแถมยังมีขอบถุงเท้าโตเท่าฝ่ามือลายเป็นเสือพาดกลอนเสียอีกด้วย    และยังแถมห้อยริบบิ้นทิ้งชายออกมาทั้งสองข้าง…….ที่เสื้อนั้นใส่ดุมที่คอเป็นคอเชิ้ต  แต่ผ้าผูกคอนั้นสิช่างเตะตาเสียเหลือเกิน  เป็นผ้าผูกคอแพรสีเหลืองมีริ้วเสือลายพาดกลอน……..หมวดสักหลาดสีดำปีกกว้างมีริบบิ้นลายเสือพันโดยรอบ ที่ปีกขวามือพับขึ้นไปติดแน่นไว้กับตัวหมวก  ประดับโบจีบเป็นรูปดอกจันทร์สีเหลืองแนบไว้ด้วยตราดุนหน้าเสือ มีขนนกขาวปัก  เข็มขัดดำหัวทองเหลืองแล้วห้อยด้วยมีดพกอย่างชาวป่า  ชั้นผู้บังคับบัญชามีไม้เท้าสีดำถือประจำตัว ที่ไหล่ติดอินทรธนู

ที่มา : https://www.gotoknow.org

แสดงความเห็น

comments