องค์พระธาตุพนมล้ม ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518

0
2,899 views

เนื่องด้วยองค์พระธาตุฯ เกิดมีรอยร้าวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปีนั้น ผนวกกับฝนตกมีลมแรงเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน ทำให้รอยร้าวนั้นขยายมากขึ้นจนในที่สุดองค์พระธาตุได้ล้มทลายลงมา ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 และมีการบูรณะซ่อมสร้างใหม่แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522

ที่มา : CVCU : Center for Visual Studies, Chulalongkorn University

– องค์พระธาตุพนม พังทลาย หัวใจพี่น้องไทย ร้าวระทม –

สาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุ ไม่ได้ทรุดที่ฐาน แต่เริ่มจากยอดที่มีน้ำหนักมาก ในแนวดิ่งมากดคอบัวฐานชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนที่ตกติดต่อกันอย่างหนัก ขณะเดียวกันอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อยๆ ทลายลงเป็นแถบๆ ยอดเจดีย์กด พุ่งลงมาตามแนวดิ่งหักลงเป็นท่อนๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออก แตกหักออกเป็นท่อน มีลักษณะเป็น 3 ตอน

ตอนที่ 1 คือฐานชั้นล่างที่ก่อด้วยอิฐแดงจำหลักลวดลายสูง 8 เมตร คือตอนที่เก่าที่สุด สร้างด้วยอิฐเรียงสอด้วยวัตถุเหนียวแตกทับตัวเอง หลุดร่วงและล้มเป็นกองเศษอิฐแตกกระจายออกทั้ง 4 ด้าน พูนขึ้นเป็นกองอิฐขนาดใหญ่

ตอนที่ 2 ระหว่างเรือนธาตุชั้นที่ 2 กับฐานบัลลังก์เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะในภายหลังแตกออกเป็น 2 ท่อน ท่อนล่างละเอียดหมด ท่อนบนยังดีอยู่ ล้มกองไปตามทางทิศตะวันออก

ตอนที่ 3 คือส่วนยอดที่สร้างครอบยอดเดิมไว้เมื่อครั้ง พ.ศ. 2483 เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กยาวประมาณ 20 เมตร (ความสูงใหญ่ 10 เมตร ระยะของความสูงเดิมจากฐานบัลลังก์ขึ้นไป) หักล้มไปทางทิศตะวันออก ทับศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาแหลกละเอียด และหอพระแก้วราบทลายลงไปทั้งสองหลังเฉพาะหอพระแก้วเหลือแต่เพียงมุขด้านหน้าไว้เท่านั้น ส่วนฉัตรที่ทำด้วยทองคำสวมยอดพระธาตุนั้น เอนปะทะพิงอยู่กับผนังหอพระแก้ว ความเสียหายของฉัตรบุบสลายเพียงเล็กน้อย

– ความเสียหายที่เกิดขึ้นทันที มีอะไรบ้าง –

จากการตรวจสอบพบว่า กำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุพนมชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2, หอข้าวพระทรงปราสาทยอดมณฑป ซึ่งสร้างในสมัยเจ้าพระยานครหลวงพิชิตทศทิศราชธานีศรีโคตรบูรหลวงบูรณะพระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ. 2153, ศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2466 , วิหารหอพระแก้ว หรือวิหารหลวง แรกสร้างในสมัยพระเจ้าโพธิสารได้บูรณะพระธาตุพนม เมื่อราว พ.ศ. 2073, หอพระด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนพระอุโบสถซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของหอพระแก้ว รอดพ้นอันตรายไปได้อย่างหวุดหวิด เพราะอาคารทั้งสองสร้างอยู่ใกล้ชิดกันมาก (ระยะห่างเพียง 5 เมตรเท่านั้น)

จากการศึกษาของคณะอนุกรรมการ เพื่อรักษาสภาพเดิมขององค์พระธาตุพนม และบริษัทวิศวกรรมที่เข้ามาศึกษาหาสาเหตุภัยพิบัติ ได้ตั้งสมมติฐานไว้ เนื่องจาก 1. ฐานรากขององค์พระธาตุทรุดตัวไม่เท่ากัน ทำให้อาคารเสียการทรงตัว 2. วัสดุก่อสร้างซึ่งสร้างมานาน เป็นอิฐบางส่วนเสื่อมสภาพไม่สามารถรับน้ำหนักดีเท่าด้านอื่น ทำให้เสียศูนย์ จึงล้มพังทลาย 3. แรงกดน้ำหนักภายในของวัสดุในองค์พระธาตุพนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความชื้น จนผนังอิฐบางส่วนทนรับน้ำหนักไม่ไหว แตกร้าวล้มในที่สุด

 – รากฐานดีมาก ไม่มีการทรุดตัวของชั้นดินโดยรอบ – 

จากการศึกษาของบริษัทวิศวกรรมได้ขุดศึกษาชั้นดินลงมาพบชั้นกรวดในระดับความลึก 20 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นชั้นรากฐานที่ดีมาก และไม่มีการทรุดตัวของชั้นดินโดยรอบเลย ประเด็นในข้อที่ 1 จึงตกไป ส่วนในข้อที่ 2 และ 3 นั้น มีเค้าความเจริญอยู่มาก แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในกรณีทั่วๆ ไป เป็นพฤติกรรมต่อเนื่องที่สร้างสมติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าสามสิบปี กล่าวคือ เมื่อมีการต่อยอดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2483-2484 นั้น ไม่มีการเสริมความแข็งแรงฐานเรือนธาตุทั้งสองชั้นใหม่ ทั้งที่ฐานทั้งสองต้องแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

 – แข็งแรงมั่นคงก็พังทลาย –

ความแข็งแรงเท่าที่มีอยู่ ทำให้เกิดความรอบคอบของท่านราชครูหลวงโพนสะเม็ก โดยการต่อยอดครั้งนั้นได้อัดอิฐดินภายในโพรงอาคารเดิมจนทึบตันรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี และลำพังอิฐก่อสร้างอาคารในส่วนที่ดีอยู่นั้น (อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1300-1400) มีความแข็งแรงเกือบเท่าคอนกรีต ความแข็งแรงทั้งหมดนี้จึงแยกน้ำหนักของยอดอาคารองค์พระธาตุได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการต่อยอดเสริมขึ้นใหม่นั้น ได้เปิดช่องระบายอากาศทุกด้าน ช่องเหล่านี้เป็นทางให้น้ำฝนสาดเข้าไปได้ แต่ไม่ได้เปิดทางระบายน้ำไว้ เมื่อน้ำเข้าไปช่องเหล่านี้ก็จะไหลไปกองอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งที่ไม่ได้ระดับ น้ำเหล่านี้ค่อยๆ ซึมเซาะอิฐให้เสื่อมสภาพไปอย่างช้าๆ จนฐานรากไม่สามารถรับน้ำหนักท่อนบนไหว พังทลายลงมาทั้งองค์

– ความเป็นมาของพระธาตุพนม –

พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์ มาบูรณะใน พ.ศ. 2236 – 2245 ว่า “ธาตุปะนม” เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระ)  ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปะลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์ มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน 53 เมตร ฉัตรทองคำสูง 4 เมตร รวมเป็น 57 เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาว กับประเทศไทยประมาณ 500 เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 800 กิโลเมตร

ในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. 8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง 5 อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ 500องค์  อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข ลักษณะ การก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน

เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปะเถระนำมาจากประเทศอินเดีย ประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการบูชาได้อยู่บางโอกาส ในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า “ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์” นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุ ให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. 500

ที่มา : https://www.thairath.co.th

แสดงความเห็น

comments