โรคลัมปีสกินระบาดหนัก ลามถึงนครพนมแล้ว โค-กระบือเกือบ 500 ตัวทยอยป่วยตาย

0
481 views

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า ได้เกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงการเกษตรโค-กระบือ หรือโรคไวรัสลัมปีสกินในพื้นที่หลายอำเภอ สร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างหนัก เนื่องจากยังไม่มียารักษา อาทิ อ.นาแก จากการลงพื้นที่ตรวจสอบรวม 12 ตำบล พบมีโค กระบือของเกษตรกรป่วยติดเชื้อไวรัสลัมปี สกิน แล้วเกือบ 500 ตัว อย่างในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก พบว่ามีโคป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว ประมาณ 200 ตัว ล้มตายแล้ว 6 ตัว มูลค่าหลายแสนบาท สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในยุคเศรษฐกิจตกต่ำจากโรคโควิดระบาด ทั้งตกงานและขาดรายได้ แถมยังต้องมาแบกภาระต้นทุนจากโรคระบาดในโคกระบือป่วยตาย บางรายขาดทุนหลายแสนบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียารักษา ต้องหาทางดูแลรักษาป้องกันแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการใช้สมุนไพรที่หาง่ายในพื้นที่ ต้องแบกภาระต้นทุนในการซื้อยามาฉีดรักษาแบบลองผิดลองถูก

ซึ่งในพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม เกิดโรคระบาดมานานเกือบ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหน่วยงานปศุสัตว์เข้ามาดูแลแก้ไขจริงจัง ทำให้โคกระบือของเกษตรกรป่วยทยอยตายรายวัน โดยทางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้ประกาศให้พื้นที่หลายอำเภอเป็นเขตโรคระบาดในโคกระบือ ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงการเกษตร และแจ้งเตือนให้เกษตรกรตรวจสอบติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง

โดยนายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน พร้อมด้วยนายศักดิ์ดา ปัญญาพ่อ ผู้ใหญ่บ้านดอนพัฒนา หมู่ 6 ต.พิมาน อ.นาแก และตัวแทนเกษตรกรได้ลงพื้นที่สำรวจรับทราบปัญหา เพื่อประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือ เนื่องจากชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาดอย่างหนัก จึงได้รวบรวมข้อมูลประสานหน่วยงานปศุสัตว์เข้ามาดูแลแก้ไข ป้องกันปัญหาการระบาดเพิ่ม เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีความรู้ และขาดแคลนงบประมาณในการดูแลช่วยเหลือแก้ไข จึงต้องขอรับการสนับสนุนจากทางจังหวัดนครพนม และหน่วยงานปศุสัตว์ในการสนับสนุนช่วยเหลือ

นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า หลังลงพื้นที่ตรวจสอบรับทราบปัญหา พบว่ามีเกษตรกรที่เลี้ยงโคกระบือในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาดลัมปีสกิน เป็นเชื้อโรคไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก อยากให้หน่วยงานปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลแก้ไข ช่วยเหลือหาทางป้องกันอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่มีการติดต่อ บางรายนั่งดูโคกระบือล้มตายแบบไร้หนทางแก้ไข บางตัวมีราคาเกือบตัวละแสนบาท อย่างไรก็ตามทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งมาดูแลแก้ไข และพร้อมให้การสนับสนุนในส่วนที่สามารถดูแลช่วยเหลือได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องขาดบุคคลากรเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องที่มีความรู้เรื่องสัตวบาล รวมถึงการให้วัคซีนและความรู้การดูแลป้องกัน ต้องอาศัยหน่วยงานปศุสัตว์ เข้ามาดูแลจริงจัง อีกทั้งยังขาดแคลนเรื่องงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะได้เร่งประสานหาทางช่วยเหลือเร่งด่วน

เช่นเดียวกันกับนางบุญกว้าง กัยลุน 53 ปี 56 เกษตรกรชาวบ้านดอนพัฒนา หมู่ 6 ต.พิมาน เปิดเผยว่าตนได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในโคที่เลี้ยงไว้นานเกือบ 3 เดือน โดยตนได้เลี้ยงโคสายพันธุ์เนื้อไว้ส่งขายกว่า 20 ตัว พอมีรายได้ ขายช่วงโควิดระบาด แต่สุดท้ายต้องมาเจอโรคระบาดติดต่อในโคหลายตัว ปัจจุบันทั้งคอกเหลือโค 14 ตัว มีอาการป่วยหนักอีกประมาณ 2 ตัว ส่วนเรื่องผิวหนังโคมีตุ่มเป็นแผล ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรักษาตามที่ศึกษาข้อมูลเอง ประสานอาสาปศุสัตว์มาดูแลแล้วแต่ไม่มียามารักษา ส่วนทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด อำเภอ ยังไม่ลงมาตรวจสอบให้การช่วยเหลือ ต้องอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านรักษากันเองก่อน หากไม่มีการดูแลช่วยเหลือคิดว่าจะทยอยตายหมด ตอนนี้ทำใจทั้งเจอพิษโควิด ยังมาเจอโรคระบาดในโคอีกขาดทุนหนัก ไหนจะต้องแบกภาระเลี้ยงดู ยังต้องเจอภาระหาเงินมาซื้อยามารักษา เรียกร้องให้ภาครัฐ หน่วยงานเกี่ยวข้องมาดูแลช่วยเหลือ จัดซื้อยามาฉีดป้องกัน หาทางรักษาไม่ให้ป่วยตายมากกกว่านี้

อนึ่ง โรคล้มปีสกินพบระบาดครั้งแรก เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคล้มปีสกิน เป็นโคที่เกษตรกรรายย่อย อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 10 ราย และจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสล้มปีสกิน จึงเป็นการตรวจพบโรคดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นสาเหตุการเกิดโรค มาจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ โดยเป็นโคเนื้อที่อาจมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ กนมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการควบคุมโรคเพื่อลดความสูญเสียให้กับเกษตรกร และเฝ้าระวังโรคในจังหวัดเคียงข้าง แต่ก็กั้นไม่อยู่โรคได้แพร่ระบาดใหญ่จนเป็นวงกว้าง

ล่าสุด นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมลงนามประกาศจังหวัดนครพนม เรื่อง กำหนดเขตโรคระบาด โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) โดยมีข้อความว่า ด้วยปรากฏว่าในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก หมู่ที่ 11 ตำบลนามะเขือ อำเภอปลาปาก หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมืองนครพนม หมู่ที่ 2 ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พบโคเนื้อป่วยหรือตายด้วยโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปยังท้องที่อำเภอ และจังหวัดอื่นๆ ได้ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในสัตว์ชนิดโค และกระบือ ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้าย โค และกระบือ หรือซากของสัตว์ดังกล่าว เข้า – ออก ผ่านหรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
สำหรับอาการของโรคโรคลัมปี สกินสัตว์อาจจะมีไข้อุณหภูมิสูงได้ถึง 41 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำนมลดอย่างเห็นได้ชัดในโคนม ซึมเบื่ออาหาร ซูบผอม เยื่อจมูกอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ มีปริมาณน้ำลายมากกว่าปกติ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เกิดตุ่ม บริเวณผิวหนังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 ซม. บริเวณหัว คอ ขา เต้านม อวัยวะเพศ ภายใน 48 ชม. หลังจากแสดงอาการป่วย โดยตุ่มมีลักษณะแข็ง กลม นูนขึ้นจากผิวหนังโดยรอบ ซึ่งตุ่มนูนที่มีขนาดใหญ่อาจจะ กลายเป็นเนื้อตาย มีแผลเป็นเกิดขึ้นและคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน ส่วนตุ่มนูนขนาดเล็กสามารถหายได้เร็วกว่า สามารถพบตุ่มน้ำ หรือแผลจากการแตกของตุ่มน้ำได้ในบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก ทางเดินอาหาร หลอดลม และ ปอดได้ อาจพบการบวมน้ำในบริเวณส่วนท้องของตัวสัตว์ซึ่งจะส่งผลให้สัตว์ไม่อยากเคลื่อนไหว ในพ่อพันธุ์อาจจะ ส่งผลให้เกิดการเป็นหมันชั่วคราว หรือถาวรได้ สําหรับแม่พันธุ์อาจจะส่งผลให้แท้งและเกิดการกลับสัดช้า

ที่มา : https://www.77kaoded.com

แสดงความเห็น

comments