ตรา GI ช่วยไม่ได้..ชาวสวนสับปะรดโอดผลผลิตล้นตลาดขายได้แค่กิโลฯ ละ 2 บาท

0
1,939 views

นครพนม – เกษตรกรโอดสับปะรดหวานขึ้นชื่อ ซ้ำได้ตราสัญลักษณ์ GI ราคาตกต่ำรอบ 10 ปี เหลือแค่กิโลฯ ละ 2 บาท เหตุผลผลิตล้นตลาด รวมแล้วต้องตัดออกขายรวมกันวันละกว่า 50 ตัน เผยหากขายไม่ออกเน่าคาสวนขาดทุนกันบักโกรก วอนช่วยเหลือด่วน

ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้เกษตรกรชาวสวนสับปะรดกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ เนื่องจากพื้นที่ อ.โพนสวรรค์ และ อ.ท่าอุเทน ถือเป็นพื้นที่แหล่งผลิตปลูกสับปะรดหวานขึ้นชื่อที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด และยังเป็นผลผลิตทางการเกษตร สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้น ตาตื้น สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรปีละหลาย 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 8,000 ไร่ 

แต่จากปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ มีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อหน้าสวน ให้ราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท ทั้งที่ต้นทุนเฉลี่ยตกกิโลกรัมละประมาณ 3 บาท จากปกติราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 10-15 บาท หรือเคยมีปัญหาแค่ประมาณกิโลกรัมละ 8-10 บาท ถือว่าราคาตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรต้องแบกภาระ และยอมขายขาดทุน

อีกทั้งปีนี้ผลกระทบจากภาคเศรษฐกิจทำให้ไม่มีโรงงานมารับซื้อ รวมถึงในพื้นที่ไม่มีโรงงานแปรรูป ทำให้เกษตรกรต้องปล่อยสวนสับปะรดทิ้ง ซึ่งพื้นที่ 2 อำเภอ มี อ.โพนสวรรค์ และ อ.ท่าอุเทน มีผลผลิตเก็บออกสู่ตลาดประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 50 ตัน เกษตรกรต้องยอมขายในราคาขาดทุนเพราะไม่สามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นาน ที่ผ่านมาเคยเรียกร้องไปยังทางจังหวัด และหน่วยงานเกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือ

นางทิพย์ กวนคำอุ้ย อายุ 55 ปี เกษตรกร ชาว อ.ท่าอุเทน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตสับปะรดหวานขึ้นชื่อของอำเภอท่าอุเทน ปกติทุกปีจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี รวมเงินหมุนเวียนสะพัดปีละหลายสิบล้านบาท เพราะเป็นผลผลิตการเกษตรคุณภาพ เป็นสับปะรดหวาน อร่อยกว่าที่อื่น ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งขายทั่วประเทศ แต่ปีนี้ผลผลิตออกจำนวนมากพร้อมกัน 

ประกอบกับโรงงานไม่มารับซื้อเพราะมีปัญหาต้นทุนการผลิต ทำให้สับปะรดล้นตลาด ขายยาก ราคาตกต่ำ ต้องยอมขายขาดทุนหน้าสวนกิโลกรัมละ 2-3 บาท จากปกติราคาหน้าสวนประมาณกิโลกรัมละ 8-10 บาท ส่วนราคาตลาดทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 15 บาท

แต่เกษตรกรต้องเร่งขายออกเพราะเป็นช่วงเก็บผลผลิต และไม่สามารถเก็บไว้นานได้ ต้องเร่งนำส่งขายเพราะจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 

ปัญหาสำคัญ คือไม่มีโรงงานแปรรูปในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรต้องขนไปวางขายสดริมถนน และตลาดทั่วไป ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย ค่าขนส่ง อยากวิงวอนหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงประชาชนมาช่วยซื้อผลผลิต หากไม่สามารถขายออกได้ต้องขาดทุนกันอย่างหนัก ยิ่งในช่วงเดือนมิถุนายนยิ่งจะมีผลผลิตมากเท่าตัว จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก แต่หากจะขนส่งไปขายต่างจังหวัดจะต้องแบกภาระค่าขนส่งเพิ่มอีก

ที่มา : https://mgronline.com

แสดงความเห็น

comments