การฟ้อนหางนกยูง ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม นครพนม เมื่อปี พ.ศ.2498

0
2,643 views

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประทับในพระราชอาสน์ในบริเวณกำแพงแก้ว ทอดพระเนตรการฟ้อนหางนกยูง ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม นครพนม เมื่อปี พ.ศ.2498
ภาพจาก : จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม

การฟ้อนหางนกยูงที่พบในแถบอีสานตอนบน บริเวณจังหวัดสกลนคร และนครพนม พบว่า หางนกยูงปรากฏในความเชื่อของผู้คนแถบลุ่มน้ำโขงมาช้านาน นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ในวรรณกรรม ชาดก และนิทานมุขปาถะ นับเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นอันเป็นศิริมงคล และการปัดป้องสิ่งอวมงคลทั้งมวล ตามแบบคติความเชื่อชาวอีสานที่ว่า “ฮ้ายกวดหนี ดีกวดเข้า”

การฟ้อนหางนกยูงนี้ ในอุรังคนิทานมีกล่าวไว้ในบทพระธาตุทำปาฏิหาริย์ หลังจากพระอินทร์ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานในอุโมงค์ ภายในพระเจดีย์เป็นที่อนุโมทนาสาธุแก่เหล่าเทวดา ครั้งนั้นพระอุรังคธาตุเสด็จออกมาทำปาฏิหาริย์ เทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก ในเวลานี้เองที่เป็นที่มาของตำนานของการ ฟ้อนหางนกยูงและฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมประจำปี ความว่า

…เทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงส่งเสียงสาธุขึ้นอึงมี่ตลอดทั่วบริเวณ วิทยาธรคนธรรพ์ทั้งหลายประโคมด้วยดุริยะดนตรี วัสสวลาหกเทวบุตรพาเอาบริวารนำเอาหางนกยูง เข้าไปฟ้อนถวายบูชาเทวดาทั้งหลาย ลางหมู่ขับ ลางหมู่ดีด สี ตี เป่า นางเทวดา ทั้งหลายถือหางนกยูง ฟ้อนและขับร้องถวายบูชา

ที่มา : ประวัติศาสตร์อีสานล้านช้าง

แสดงความเห็น

comments