บุญใหญ่!ชาวพุทธเรือนแสนแน่นริมโขง ร่วมอัญเชิญพระอุปคุตนมัสการพระธาตุพนม

0
2,325 views

นครพนม- คลื่นศรัทธาชาวไทย-ลาวนับแสน แน่นริมฝั่งแม่น้ำโขง ร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตงานบุญเดือน 3 นมัสการพระธาตุพนม 61 เชื่อหากใครได้กราบไหว้พระธาตุพนม ถวายเครื่องสักการะบูชาหน้าองค์พระธาตุด้วยตนเองแล้ว จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สรวงสวรรค์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(24 ม.ค.) เวลาประมาณ 08.00 น. ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณด่านศุลกากร จุดผ่อนปรนไทย-ลาว หน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 และกรรมการมหาเถระสมาคม พร้อม พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสฯ และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ 

ขณะที่ฝ่ายฆราวาสประกอบด้วย นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พล.ท.สนธยา ศรีเจริญ รองแม่ทัพภาค 2 และหัวหน้าส่วนราชการ นำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ลาว และข้าโอกาสพระธาตุพนม ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขง โดยจะแห่ไปตามถนนกุศลรัษฎากร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนม ซึ่งเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

โดยพิธีเริ่มตามฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา จากนั้นนายสมชาย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวคำอัญเชิญพระอุปคุต โดยมีผู้ดำน้ำลงไปอัญเชิญ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.สมชาย ครรภาฉาย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ.ฯ พล.ต.ต.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล ผบก.ภ.จว.นครพนม น.ท.บรรพต มุ่งหามณี หัวหน้าสถานีเรือธาตุพนม หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง(นรข.) และ นายอติชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม เพื่อนำมาส่งให้แก่ นายสมชายที่ยืนรออยู่บนประรำพิธี

พิธีสำคัญนี้จะจัดขึ้นทุกปี ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม หรืองานบุญเดือนสาม เพื่ออาราธนาขอให้พระอุปคุต พระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพมาก ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช หรือหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 200 ปี

ย้อนตำนานพระอุปคุต

ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุต เป็นพระที่ถือศีลปฏิบัติธรรมใต้บาดาล หรือสะดือทะเล การอัญเชิญสมมุติว่าแม่น้ำโขงคือสะดือทะเลที่พระอุปคุตจำศีลภาวนา มาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา ปกป้องภยันตรายไม่ให้เกิดขึ้นจนกว่างานนมัสการองค์พระธาตุพนมจะสำเร็จลุล่วงตลอด 9 วัน 9 คืน 

ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดกำหนดจัดงานนมัสการฯขึ้น ระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-1 ก.พ.ในริ้วขบวนแห่ถนนกุศลรัษฎากรเนืองแน่นด้วยเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและต่างประเทศ โรยดอกไม้หอมตลอดเส้นทางการอัญเชิญ

ส่วนในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. วันเดียวกันนี้ จะเป็นพิธีเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมอย่างเป็นทางการ พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครพนม นำประกอบพิธีสักการะบูชา เวียนเทียนองค์พระธาตุพนม นายสมชาย ผวจ.นครพนม รับฟังการกล่าวรายงานจาก นายอภิชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม 

จากนั้นชมรำตำนานพระธาตุพนม ที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญ ในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนม โดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนม ทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรี 

ซึ่งกล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนม การรำชุดนี้แสดงครั้งแรกในงานสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ พ.ศ. 2522 ถือเป็นเอกลักษณ์ใช้รำเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมทุกครั้งจนถึงปัจจุบัน ภายหลังได้นำมารำบูชาพระธาตุพนม ในงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

“พระธาตุพนม” ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน ตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.8 มีอายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในมีการบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าไว้เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และคนที่เกิดปีวอก ซึ่งงานนมัสการองค์พระธาตุพนมถือเป็นประเพณีสำคัญสืบทอดมาอย่างยาวนานแต่โบราณกาล

โดยชาวพุทธในภาคอีสานของประเทศไทยและลาว เชื่อถือสืบกันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปกราบไหว้พระธาตุพนม ถวายเครื่องสักการะบูชาหน้าองค์พระธาตุด้วยตนเองแล้ว จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ ชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนมไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุเท่านั้น 

แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรีอีกด้วย ทำให้ทุกปีจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศของไทยและเทศ ต่างดั้นด้นเดินทางกันมาร่วมพิธีมากมายนับแสนคน จัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

ส่วนคำว่า”ข้าโอกาส” นั้น กล่าวกันว่าเกิดขึ้นในสมัยเจ้าพระยาสุมิตตธรรมวงศาผู้ครองเมืองมรุกขนคร ประมาณ พ.ศ.500 ทรงมีความเสื่อมใสศรัทธาต่อพระธาตุพนม จึงเกณฑ์ไพร่พลร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จ จึงเกิดคำว่า”ข้าโอกาส” เป็นข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม ติดปากมาถึงปัจจุบัน

เขตที่อยู่ของข้าโอกาสพระธาตุพนม คือพื้นที่ อ.ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จ.นครพนม และ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร พื้นเพเป็นชาติพันธุ์ไทย-ลาว ผู้ไทย(ภูไท) อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีองค์พระธาตุพนมเป็นศูนย์กลาง 

ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ ยึดถือประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส มีประเพณีเฉพาะกลุ่ม ได้แก่พิธีถวายข้าวพีชภาค คือผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด กล้วย อ้อย และผลผลิตที่ได้จากที่ดินของวัด เรียกว่า”นาจังหัน(ที่ดินที่มีผู้ถวายให้กับวัด)” พิธีเลี้ยงผีเจ้า 3 เรือน มีความเชื่อในเรื่องบาป บุญ สิ่งเหนือธรรมชาติ ทำหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุพนมด้วยการถวายทาน และจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศลตามวันสำคัญทางศาสนา

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส ข้าโอกาสก็จางหายไป แต่ยังมีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าข้าโอกาส นำข้าวพีชภาคมาถวายแด่องค์พระธาตุพนมทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและศรัทธาของคนในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งไทยและลาว โดยยึดองค์พระธาตุพนมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ยึดเหนี่ยวจิตใจคนสองฟากฝั่งตลอดมา

ที่มา : https://mgronline.com

แสดงความเห็น

comments