ภาพเก่าและประวัติความเป็นมาของชาวเมืองไชยบุรี

0
1,818 views

ภาพชาวเมืองไชยบุรีริมแม่น้ำโขง วันที่ 9 มกราคม 2449 ซึ่ง ณ ที่นั้น มีพระไชยราชวงษา(โสม) เจ้าเมืองไชยบุรี คอยรับเสด็จ เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร

ไชยบุรี เดิมชื่อ “เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี” อยู่ในเขตการปกครองของเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยนั้น ตามแผ่นศิลาจารึกที่วัดไตรภูมินั้น ประวัติของเมืองไชยบุรี ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2351 หัวหน้าชาวไทยญ้อชื่อ ท้าวหม้อและนางสุนันทา ได้พาบุตรและบ่าวไพร่ อพยพโยกย้ายผู้คนพลเมืองจากเมืองหงสา (ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตอนเหนือเมืองหลวงพระบาง) อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง ลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณปากน้ำสงครามในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รวบรวมผู้คนมาสร้างเมืองใหม่ขึ้น และตั้งชื่อว่า “เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี” ขึ้นตรงต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ได้ตั้งให้ท้าวหม้อเป็นพระยาหงสาวดี และท้าวเล็กน้องชายท้าวหม้อเป็นอุปราชวังหน้า ท้าวหม้อมีบุตรชายคนโตชื่อท้าวโสม

พ.ศ. 2357 ได้สร้าง”วัดศรีสุนันทามหาอาราม”ต่อมาเรียกว่า”วัดไตรภูมิ” ซึ่งได้พบแผ่นศิลาจารึกในวัดนี้แปลออกมาได้ความว่า “พระศาสนาพุทธเจ้า ล่วงลับไปแล้ว 2357 พรรษา พระเจ้าหงสาวดีทั้งสองพี่น้องได้มาตั้งเมืองใหม่ในที่นี้ให้ชื่อว่า “เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี” ในปีจอ ฉศก ตรงกับปีกาบเล็ด ในเดือน 4 แรม 11 ค่ำ วันอังคาร ภายนอกมีอาญาเจ้าวังหน้าเสนาอำมาตย์สิบร้อยน้อยใหญ่ ภายในมีเจ้าครูพุทธา และเจ้าชาดวงแก้ว เจ้าชาบา เจ้าสีธัมมา เจ้าสมเด็จพุทธา และพระสงฆ์สามเณรทุกพระองค์ พร้อมกันมักใคร่ตั้งใจไว้ยังพุทธศาสนา จึงให้นามวัดนี้ว่า “วัดศรีสุนันทามหาอาราม” ตามพุทธบัญญัติสมเด็จพระองค์เจ้า ซึ่งมีจิตตั้งไว้ในพุทธศาสนาสำเร็จในปีกดสี เดือน 5 เพ็ญวันจันทร์ มื้อฮวงมด ขอให้ได้ตามคำมัก คำปรารถนาแห่งปวงข้าทั้งหลาย เทอญ”

ชื่อเดิมตามศิลาจารึกว่า “เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี” นั้นหมายถึงเมืองที่มีชัยชนะและอุดมสมบูรณ์ ที่ได้ชื่ออย่างนี้ก็เพราะว่า ในสมัยที่ตั้งเมืองนั้นมีการทำสงครามระหว่างกรุงเทพฯ – เมืองเวียงจันทน์ – ญวนอยู่บ่อยๆ สำหรับเรื่องความอุดมสมบูรณ์นั้นเล่ากันว่า ไชยบุรีเป็นเมืองที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อย่างอุดมสมบูรณ์เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงครามจึงจับปลา ได้อย่างสะดวก และไม่ได้พูดเกินความจริงเลยว่า สมัยเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา ปลาในแม่น้ำโขงแม่น้ำสงครามมีมาก ขนาดที่เพียงแต่พายเรือเลียบไปตาม ริมฝั่งน้ำในเวลา ประมาณ 1 ทุ่มเป็นต้นไปโดยพายไปเบาๆ พอไปถึงจุดใดจุดหนึ่งแล้วก็กระทึบเรือ หรือขย่มเรือให้มีเสียงดังก็มีปลา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาสร้อย) ตกใจแล้วกระโดดเข้าไปในเรือเองเป็นจำนวนมาก ทำอย่างนี้ไปประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้นก็ได้ปลาเหลือใช้แล้ว แจกญาติพี่น้อง

ตำนานเล่าขานว่าไชยบุรีไม่ได้เป็นเมืองของผู้ไทยโดยแท้ แต่มีตำนานสอดคล้องกับชาวผู้ไทย ไชยบุรีเดิมเป็นเมืองปากน้ำศรีสงครามตามพงศาวดารรัชกาลที่ 3 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2505 เล่ม 2 หน้า 179) ว่าได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกขึ้นเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 การยกขึ้นเป็นเมืองคราวนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า มีเรื่องประหลาดที่หม่อมฉันไปทราบความในท้องถิ่นว่า

“…..ดั้งเดิมราษฎรเมืองท่าอุเทนกับเมืองไชยบุรี ซึ่งอยู่ในแนวลำน้ำโขงติดต่อกันอพยพหนีไปอยู่ทางฝั่งซ้ายใกล้แดนญวน พวกชาวเมืองไชยบุรีกลับมาก่อนเห็นว่าที่นาเมืองท่าอุเทนดีจึงพากันไปตั้งอยู่ที่เมืองท่าอุเทน เมื่อชาวเมืองท่าอุเทนกลับมาพบเห็นว่าบ้านเดิมของตนกลับเป็นของคนอื่นแล้ว จึงพากันไปตั้งอยู่เมืองไชยบุรี ราษฎรก็ไขว้เมืองกันมาตั้งแต่นั้น…..” (สาส์นสมเด็จ ฉบับโรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2504 เล่ม 6 หน้า 297)

ตามหนังสือฝั่งขวาแม่น้ำโขงกล่าวว่าได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกบ้านปากน้ำสงครามขึ้นเป็นเมืองไชยบุรี เมื่อ พ.ศ. 2373 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ท้าวหม้อกลัวภัยจึงอพยพพาครอบครัวบ่าวไพร่หนีไปเมืองปุงเลง เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรีจึงเป็นเมืองร้าง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) แม่ทัพไทยยกทัพมาปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ครั้งที่ 2 ได้จัดราชการหัวเมืองภาคอีสานด้วย (พ.ศ. 2369-2371)โดยสั่งให้พระยาวิชิตสงครามตั้งทัพอยู่ที่เมืองนครพนม ให้ราชวงศ์ (แสน) จากเมืองเขมราฐ เป็นนายด่านตั้งกองรักษาปากน้ำสงคราม คุมไพร่พลไปตั้งอยู่ “เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี” ซึ่งเป็นเมืองร้าง เมื่อปราบขบถจนราบคาบแล้ว ต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)จึงได้ทูลขอรัชกาลที่ 3 ปูนบำเหน็จ ได้มีท้องตราราชสีห์แต่งตั้งให้ ราชวงศ์ (แสน)แห่งเมืองเขมราฐ เป็น พระยาไชยราชวงษา ปกครองเมืองไชยบุรี (เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี) ซึ่งเป็นต้นตระกูล “เสนจันทร์ฒิไชย” ในปัจจุบัน

เมื่อปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์จบลงแล้ว พ.ศ. 2376 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนมอีกครั้งหนึ่ง ได้ไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตามแนวบริเวณใกล้กับแดนญวน อันมีกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆเช่น ผู้ไท ข่า โซ่ กะเลิง แสก ญ้อ และโย้ย ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อมิให้เป็นกำลังแก่เจ้าอนุวงศ์ และญวน และได้เกลี้ยกล่อมชาวเมืองปุงเลงที่อพยพหนีไปในคราวนั้น ซึ่งเป็นชาวไทยญ้อให้กลับมาด้วย พวกไทญ้อจึงกลับมา แต่พอมาถึงเมืองเดิมกลับมีพวก เมืองเขมราฐมาอยู่แทน จึงต้องอพยพไปอยู่ที่บ้านท่าอุร้าง ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง เป็นที่ตั้งเมืองใหม่ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ท้าวพระปทุม เจ้าเมืองปุงเลง เป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนคนแรก ต้นตระกูล“วดีศิริศักดิ์” ในปัจจุบัน

ลำดับเจ้าเมืองไชยบุรี มีดังนี้
๑.พระไชยราชวงษา (เสน)
๒.พระไชยบุราจารย์ (ศิลา)
๓.พระไชยราชวงษา(จันทร์เพ็ง)
๔.พระไชยราชวงษา(ขี้)
๕.พระพฤฒิไชยดี(ปาน)
๕.พระไชยราชวงษา(โสม)

ที่มา : ประวัติศาสตร์อีสานล้านช้าง

แสดงความเห็น

comments